กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการร้านอาหารคุมเข้ม 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการ ผู้สัมผัสอาหารและผู้ปฏิบัติงานในร้านอาหาร ตลอดจนผู้ซื้อ/ผู้บริโภค เพื่อสร้างความปลอดภัยตั้งแต่ครัวจนถึงมือผู้บริโภค
วันนี้ (6 มกราคม 2564) นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการร้านอาหาร ณ ร้าน Steve café & Cuisine เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ว่า ในช่วงการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในแต่ละวันนั้น สถานประกอบการที่ต้องเฝ้าระวัง อีกประเภทหนึ่งคือกิจการร้านอาหาร ที่ต้องมีการคุมเข้มมาตรการในการป้องกันอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้าง ความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่ครัว กระบวนการปรุง ประกอบ จนถึงมือผู้บริโภค โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร ต้องจัดให้มีระบบการคัดกรองพนักงานหรือ ผู้ให้บริการและผู้มาใช้บริการ หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูกจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ เหนื่อยหอบ หรือมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป งดให้บริการและไปพบแพทย์ รวมทั้งผู้ประกอบกิจการร้านอาหารควรประเมินการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านแพลตฟอร์ม THAI STOP COVID http://stopcovid.anamai.moph.go.th ของกรมอนามัย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า กลุ่มที่ 2 ผู้สัมผัสอาหารและผู้ปฏิบัติงานในร้านอาหาร ต้องมีการตรวจคัดกรองพนักงานในร้านทุกคนก่อนให้ปฏิบัติงาน ให้มีการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ถ้าหน้ากากเปียกชื้นหรือสกปรกควรเปลี่ยนใหม่ทันที ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสอาหารทุกครั้ง หลังออกจากห้องส้วม และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก สำหรับกระบวนการปรุง ประกอบ ต้องเตรียมและปรุงอาหารบนโต๊ะที่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร อาหารสดต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุงหรือเก็บ ส่วนวิธีการเก็บอาหารประเภทต่าง ๆ ต้องแยกเก็บเป็นสัดส่วน อาหารประเภทเนื้อสัตว์ดิบเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส และอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วห้ามใช้มือหยิบจับหรือสัมผัสอาหารโดยตรง ต้องใช้อุปกรณ์ที่สะอาดปลอดภัยในการหยิบจับอาหาร เช่น ทัพพี ที่คีบ เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรค นอกจากนี้ ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการ โดยการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร มีระบบการสั่งซื้ออาหาร จองโต๊ะนั่งรับประทานอาหารล่วงหน้า การชำระเงินแบบออนไลน์ มีอุปกรณ์สำหรับรับเงิน เป็นต้น และ กลุ่มที่ 3 ผู้ซื้อ/ผู้บริโภค ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเข้าไปในร้านอาหาร มีการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังการใช้บริการ รวมทั้งเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร หรือหากมีการรับอาหารที่ปรุงสำเร็จจากผู้ส่งอาหารประเภทเดลิเวอรีแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาด จากนั้นนำอาหารไปถ่ายใส่ในภาชนะ หากเก็บอาหารปรุงสำเร็จนานเกินว่า 2 ชั่วโมง ควรนำมาอุ่นให้เดือดอีกครั้งก่อนนำมาบริโภค
“ทั้งนี้ กรมอนามัยยังคงเน้นย้ำให้สถานประกอบกิจการร้านอาหารทุกแห่ง ต้องมีระบบคัดกรอง ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย รวมถึงจัดให้มีจุดผู้ใช้บริการลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ทุกครั้งที่ใช้บริการ และมีการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด รวมถึงจัดให้มีระบบระบายอากาศภายในอาคาร ที่เหมาะสม ที่สำคัญควรทำความสะอาดพื้นผิวในจุดที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19 เช่น ห้องน้ำ ลูกบิดประตู หรือราวจับทางเดิน เป็นต้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด