ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมสินค้าเกษตรไทยในปี 2564 น่าจะให้ภาพที่ดีขึ้น โดยคาดว่า รายได้เกษตรกรจะขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 1.0-1.5 (YoY) จากแรงผลักด้านผลผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0-2.5 (YoY) เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกจากปรากฏการณ์ลานีญาที่อาจต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ขณะที่ราคาอาจปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5-1.0 (YoY) เพราะต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งจากคู่แข่งในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และยังต้องจับตาระดับความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ของไทย รวมถึงของโลกที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจกดดันราคาสินค้าเกษตรไทยได้ ดังนั้น โครงการประกันรายได้เกษตรกรของภาครัฐ (เฟส 2) จึงนับเป็นสิ่งที่ดีในจังหวะเวลาที่เหมาะสมคือ เป็นช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้ให้กับเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับในด้านราคาสินค้าเกษตร คาดว่า อาจหดตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 0.5-1.0 (YoY) จากปัจจัยเสี่ยงหลายด้านที่ยังมีอยู่ ดังนี้
– โลกผลิตสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชเกษตรของโลกจากปรากฏการณ์ลานีญาเหมือนกับที่ไทยผลิตได้มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศในแถบ CLMV จะได้รับอานิสงส์จากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นคู่แข่งส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยอย่างข้าว สะท้อนได้จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในกลุ่มธัญพืชของโลกในปี 2564 อาจอยู่ที่ 2,742 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 (YoY) โดยมีข้าวที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มธัญพืชที่ราวร้อยละ 1.5 (YoY) อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นทุนการผลิตของคู่แข่งที่ต่ำกว่าไทย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยสูงกว่าคู่แข่งโดยเปรียบเทียบ ส่งผลต่อความต้องการสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกที่ต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น
– ยังต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและราคาสินค้าเกษตรในขั้นต้นน้ำของไทยมากนัก (แต่อาจได้รับผลกระทบในสินค้าเกษตรขั้นกลางน้ำและปลายน้ำในแง่ของปัญหาการขนส่งสินค้าที่หยุดชะงัก) เนื่องจากสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค โดยมีแนวโน้มการกักตุนสินค้ามากขึ้นเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ของประเทศ ประกอบกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันอุปสงค์จากต่างประเทศได้ดี อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงต้องจับตาระดับความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ของไทยและของโลกที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจมีผลกดดันราคาสินค้าเกษตรไทยได้
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ในไทย น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรไม่มากนัก โดยตัวเลขคาดการณ์ในครั้งนี้ได้คำนึงถึงประเด็นการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวเข้าไว้ด้วยแล้วในบางพืชเกษตรสำคัญ ปศุสัตว์และประมง ซึ่งแม้ว่าแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคพืชเกษตรและปศุสัตว์ แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ที่พบปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวจะอยู่ในภาคประมงเป็นหลัก ซึ่งภาคประมงนับว่ามีน้ำหนักเป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับมูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรทั้งหมดในตะกร้า จึงทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในภาคประมงขณะนี้มีผลกระทบต่อภาพรวมภาคเกษตรไม่มาก อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากมีการควบคุมไม่ได้มาก ก็อาจเกิดปัญหาทางการผลิต จนอาจทำให้ตัวเลขต่ำกว่ากรอบล่างของตัวเลขคาดการณ์ และหากไม่สามารถควบคุมได้จนสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ก็อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาคการผลิตสินค้าพืชเกษตรและปศุสัตว์ให้ได้รับผลกระทบมากขึ้นตามไปด้วย
สรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมสินค้าเกษตรไทยในปี 2564 น่าจะให้ภาพที่ดีขึ้น โดยคาดว่า รายได้เกษตรกรจะขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 1.0-1.5 (YoY) จากแรงผลักด้านผลผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0-2.5 (YoY) เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาอาจปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5-1.0 (YoY) โดยเฉพาะในรายการข้าว มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ดังนั้น โครงการประกันรายได้เกษตรกรของภาครัฐ (เฟส 2) จึงนับเป็นสิ่งที่ดีในจังหวะเวลาที่เหมาะสมคือ เป็นช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้ให้กับเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง