กรมอนามัย เผย หลังปีใหม่แนวโน้มฝุ่นจิ๋วลดลง พร้อมแนะหลัก 3 – 3 – 1 เลือกใช้หน้ากากให้ถูกต้อง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในช่วงหลังปีใหม่ ภาพรวมส่วนใหญ่ อยู่ในระดับไม่เกินค่ามาตรฐาน พบประชาชนดูแลสุขภาพตนเองโดยสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ร้อยละ 75.8 พร้อมแนะหลัก 3 – 3 – 1 เลือกและใช้หน้ากากให้ถูกต้อง


​วานนี้ นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการแถลงข่าวของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ด้านผลกระทบต่อสุขภาพ (ศกพ.ส) เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพและมาตรฐานประสิทธิภาพของหน้ากากในการป้องกัน PM2.5 ร่วมกับ รองศาสตราจารย์พานิช อินต๊ะ วิทยาลัยเทคโนโลยีและ สหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย ว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในวันที่ 1 – 10 มกราคม 2564 พบว่า ในภาพรวมส่วนใหญ่อยู่ในระดับไม่เกินค่ามาตรฐาน ยกเว้นในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางจังหวัดที่พบค่าเกินมาตรฐาน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร และหนองคาย โดยค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบสถานการณ์ PM2.5 ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 – 9 มกราคม 2563 กับเดือนธันวาคม 2563 – 9 มกราคม 2564 พบว่า ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลดลงถึงร้อยละ 42 ทั้งจากปริมาณการจราจรและ จุดความร้อนในประเทศลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลสำรวจอาการของประชาชนของกรมอนามัย ในช่วงวันที่ 1 – 9 มกราคม 2564 โดยให้ประชาชนเฝ้าระวังอาการตนเองยังพบผลกระทบต่อสุขภาพกว่าร้อยละ 48 แต่ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังคงเป็นอาการคัดจมูก/มีน้ำมูก ร้อยละ 25.4 แสบจมูก ร้อยละ 22.0 และแสบตา/คันตา/ตาแดง ร้อยละ 19.1 โดยกลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-34 ปี เป็นกลุ่มที่พบอาการมากที่สุด ถึงร้อยละ 38.03 นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวพบว่า มีอาการมากกว่าคนที่ไม่มี โรคประจำตัว เนื่องจากมีความไวต่อการรับสัมผัสฝุ่นละอองมากกว่าบุคคลทั่วไป ดังนั้น แม้ว่าค่า PM2.5 จะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังพบว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งที่มีอาการที่อาจจะเกิดจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน และในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน จึงต้องมีการป้องกันและดูแลสุขภาพตนเอง โดยลดการรับสัมผัสฝุ่นละอองให้น้อยที่สุด ทั้งการสวมหน้ากากเมื่อออกนอกอาคาร เลี่ยงหรือลดระยะเวลาการอยู่กลางแจ้งในช่วงเวลาหรือพื้นที่ที่มีฝุ่นสูง โดยผลการสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากฝุ่นพบว่ามีการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ร้อยละ 75.8 งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ร้อยละ 53.3 และลดระยะเวลาการออกนอกอาคาร ร้อยละ 53.1 ถือว่าประชาชนปฏิบัติได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ทั้งนี้ การเลือกและใช้หน้ากากที่ถูกต้องขอให้ประชาชนใช้หลัก 3 – 3 – 1 ซึ่ง 3 ตัวแรกคือ การเลือก ได้แก่ 1. เลือกหน้ากากที่ได้มาตรฐาน สะอาด ไม่มีกลิ่นผิดปกติหรือฉีกขาด 2. เลือกหน้ากากให้เหมาะสมกับลักษณะงานหรือกิจกรรมของ ผู้สวมใส่ และ 3.เลือกขนาดให้เหมาะสมกับใบหน้า สำหรับ 3 ตัวที่สองคือ การใช้ ได้แก่ 1. สวมให้ถูกต้อง โดยครอบจมูก และปาก 2. ไม่สวมหน้ากากขณะออกกำลังกาย เนื่องจากการใส่ทำให้หายใจลำบาก ทำให้เหนื่อยง่ายกว่าปกติ และ 3. ไม่ใช้หน้ากากร่วมกับผู้อื่น และ 1 ตัวสุดท้ายคือ การทิ้ง ต้องทิ้งลงถังขยะและล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ทางด้าน รองศาสตราจารย์พานิช อินต๊ะ วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า หน้ากากอนามัยเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยกั้นระหว่างอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ (Respiratory organs) และสภาพแวดล้อมโดยรอบ ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากกรองอากาศจะถูกกำหนดโดย 2 อย่าง คือ ประสิทธิภาพการกรอง (Filtration efficiency) และความพอดี (Fit) หรือการรั่ว (Leakage) ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคจะบอกว่าหน้ากากสามารถกรองอนุภาคในช่วงขนาดที่กำหนดได้ดีขนาดไหน รวมถึงไวรัส (Virus) และอนุภาคขนาดเล็กระดับซับไมครอน (Submicron particles) อื่น ๆ ส่วนความพอดีหรือการรั่วในขณะสวมใส่จะบอกว่าหน้ากากสามารถป้องกันการรั่วบริเวณใบหน้าได้ดีขนาดไหน ซึ่งหน้ากากกรองอากาศประกอบด้วยวัสดุกรองอากาศที่สามารถป้องกันอนุภาคขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน และ สิ่งปนเปื้อนไม่ให้ผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจของคน โดยในประเทศไทยจะเป็น มอก.2480-2562 หน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N95 ลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางการแพทย์ โดยให้ประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคสูงสุด สำหรับหน้ากากผ้าขณะนี้ได้แนะนำให้ประชาชนที่แข็งแรง ไม่ป่วย ใช้หน้ากากผ้าแทนหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิค-19

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *