สืบเนื่องจากกรณีมีวัยรุ่นเสียชีวิตจากการเสพยาเคนมผง กรณีนี้ รศ.นพ.สัมมน โฉมฉาย อาจารย์ประจำสาขาวิชาพิษวิทยา อาชีวเวชศาสตร์ และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าฝ่ายแพทย์ศูนย์พิษวิทยาศิริราช ชี้แจงว่า ยาเค คือ สารเคตามีนที่ทางการแพทย์ใช้เป็นยาระงับความรู้สึกในการผ่าตัด แต่พบว่ามีการใช้สารนึ้เป็นสารเสพติดโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไปตามสถานบันเทิงและร้านอาหารตอนกลางคืน
แต่ในช่วง 1 สัปดาห์หลังปีใหม่ที่ผ่านมา ได้มีรายงานข่าวการใช้สารนี้ สูดดมยาทางจมูกแล้ว มีอาการรุนแรงทำให้หมดสติเฉียบพลัน ซึ่งกรณีนี้ทางการแพทย์ไม่เคยพบมาก่อน จึงคาดว่ายาเคที่ใช้อาจเป็นสูตรใหม่ผสมสารหลายอย่าง ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นจากตัวอย่างยาของคนไข้ พบสิ่งที่ใกล้เคียงกับการรายงานข่าว โดยตรวจพบส่วนประกอบ ได้แก่ สารเคตามีน เฮโรอีน และยานอนหลับกลุ่มสารเบ็นโซไดอาเซพีน (Benzodiazepine) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบและยืนยันกันต่อไป
สำหรับยาเคนมผง เป็นสารเสพติดชนิดใหม่จะทำให้มีอาการตั้งแต่หายใจลำบาก ใจสั่นมาก ชัก และหมดสติได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานผลข้างเคียงจากการเสพยาเคในฮ่องกง ไต้หวัน และจีน โดยทำให้มีความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ที่เสพมีปัญหาเรื่องกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง โดยพบเด็กวัยรุ่นฮ่องกงจำนวนมากที่อายุเพียง 20 ปีที่มีประวัติการใช้ยานี้ ต้องใส่ผ้าอ้อมไปตลอดชีวิต เนื่องจากกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ถ้าจะรักษาจำเป็นจะต้องผ่าตัดใหญ่เพื่อซ่อมแซมทางเดินปัสสาวะโดยเอาลำไส้ใหญ่มาซ่อม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์พิษวิทยาศิริราชได้รับบริการปรึกษากับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย และให้การรักษาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวโดยคาดว่าจะมีมากขึ้น ๆ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงต้องการเตือนถึงผลเสียต่อสุขภาพจากการเสพยาเคนมผง สำหรับผู้ที่เสพยาชนิดนี้ ควรทราบถึงอันตรายที่เกิดขึ้น และควรเลิกเสพ หากมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เหล่านี้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินมารับ ไม่ควรรอหรือรักษากันเอง เพราะอาจเสียชีวิตได้และไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที หากประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์มีข้อสงสัย สามารถรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์พิษวิทยาศิริราช โทร. 0 2419 7007 (ตลอด 24 ชั่วโมง) ซึ่งทางศูนย์ฯ มีประสบการณ์ในการดูแลคนไข้กลุ่มนี้ และมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่คนไข้ได้รับเข้าร่างกายคือสารอะไร
………………………………………