ผู้นำขับเคลื่อนความร่วมมือสร้างสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement ประเมินสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทย แนะ 5 สิ่งที่ต้องทำหากต้องอยู่กับ COVID-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19   ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงการระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และผู้นำการขับเคลื่อนความร่วมมือสร้างสังคมสุขภาวะ  Imagine Thailand Movement  สะท้อนมุมมอง  ต่อการการแพร่ระบาดโควิด-19 และการแพร่ระบาดรอบใหม่ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับทุกประเทศว่า ประเทศไทยนับว่าโชคดี เพราะจากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นก่อน ทำให้สามารถตั้งหลัก เรียนรู้ เรียนลัด ประเมินจากสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แล้วนำไปสู่การบริหารจัดการกับปัญหาในประเทศได้

“ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งแรกเมื่อปลายปี 2562 การแพร่ระบาดเกิดขึ้นในต่างประเทศก่อน และมีเวลาให้เราเรียนรู้ ตั้งหลักพอสมควร ก่อนที่การแพร่ระบาดจะมาถึงประเทศไทย เราจึงสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ หากเราเฝ้าสังเกตให้ดี และไม่ตื่นตระหนกจนมากเกินไป เราจะสามารถนำวิธีการปฏิบัติต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการจัดการกับการแพร่ระบาดได้  ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็จัดการกับการแพร่ระบาดในครั้งแรกได้ดี จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุข ระบบสาธารณสุข ผู้นำ และที่สำคัญอย่างยิ่งความร่วมมือของประชาชนคนไทย สำหรับการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2563 ก็เช่นกัน การแพร่ระบาดในต่างประเทศยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ วันที่ 11 มกราคม 2564 มีทั้งสิ้น 90.2 ล้านคน เพิ่มจากวันที่ 26 ธันวาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อเพียง 79.9 ล้านคน หลายประเทศชั้นนำของโลก สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง และหลายประเทศมีการระบาดในรอบที่ 2 รอบที่ 3 รวมถึงในหลายประเทศมีผ่อนคลายมาตรการแล้วกลับมาล็อคดาวน์อีกหลายครั้ง เราได้เรียนรู้และจะนำมาประยุกต์ปฏิบัติอะไรได้บ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก”

อย่างไรก็ตาม  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าในครั้งแรกมาก  ดร.อุดม สะท้อนว่า จากขนาดของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น  ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการและแก้ปัญหานี้ได้แต่เพียงฝ่ายเดียว  โดยเห็นว่า ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และคนไทยทุกคน ควรต้องเข้ามามีส่วนร่วม ให้ความร่วมมือ รวมถึงสนับสนุนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความร่วมมือในการดูแลตนเอง รักษาระยะห่างทางสังคม การตรวจหาผู้ป่วย รวมถึงสามารถเข้ามามีส่วนการช่วยสร้างโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่พักพิงเพื่อรองรับผู้ป่วย

“และจากการเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หากเราจัดการกับระบาดระลอกใหม่ไม่ดีพอ มีโอกาสที่การแพร่ระบาดจะรุนแรง และเราอาจเห็นจำนวนผู้ที่ติดเชื้อในประเทศจำนวนมากเป็นจำนวนหลักหลายหมื่น หลักหลายแสนได้ ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่คราวนี้มีขนาดที่ใหญ่มาก เราไม่สามารถสืบค้นหาต้นตอของการแพร่ระบาดได้ เราต้องตรวจหาเชื้อในแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยซึ่งมีไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ต้องเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่มีโอกาสมากเป็นจำนวนหลักแสนคน”

ขณะที่ความหวังของการจัดการกับการแพร่ระบาด COVID-19 อยู่ที่วัคซีน  ซึ่งขณะนี้มีการรับรองวัคซีนหลายชนิด และในหลายประเทศก็ได้เริ่มแจกจ่ายวัคซีนกันแล้ว  แต่ ดร.อุดม ซึ่งติดตามสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดประเมินว่า ศึกครั้งนี้คงยังไม่จบลงในเร็ววัน เพราะกว่าจะมีการแจกจ่ายวัคซีนชุดแรกให้คนไทย ที่มีการประเมินว่าไม่เกินเดือนเมษายน และเห็นว่ากว่าคนไทยจะได้รับวัคซีนครบทุกคน ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกแรมปี  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องเข้าใจสถานการณ์ และเริ่มคิดว่า ระหว่างนี้เราจะรับมือ หรืออยู่กับโควิด-19 ไปได้อย่างไร และจะทำอย่างไรกับความท้าทายใหม่ๆ ของโรคระบาด ที่ล่าสุดประเทศอังกฤษ ได้มีการยืนยันเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทำให้เกิดเป็นความกังวลว่า วัคซีนที่พัฒนาขึ้นเสร็จแล้ว หรือที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่ในขณะนี้ จะสามารถจัดการกับ COVID-19 ที่กลายพันธุ์นี้ได้หรือไม่

“ล่าสุด Lisa Wieland ซึ่งเป็น CEO ของ Boston Logan Airport ได้กล่าวไว้จากการสัมภาษณ์ของ McKinsey & Company ว่า “Prepare for the Marathon and be ready for the course of change” เราควรเตรียมความพร้อมสำหรับมาราธอนระยะยาวและพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น จากการประเมิน เราคงต้องอยู่กับ COVID-19 ไปอีกไม่น้อยกว่า 12 เดือน จนกระทั่งเรามีวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพียงพอ คำถามคือเราคนไทยจะอยู่กับ COVID-19 อย่างไร  ภาครัฐควรจะจัดการกับการแพร่ระบาดครั้งนี้อย่างไร จากบทเรียนครั้งที่ผ่านมา ผมมองว่าภาครัฐคงเลี่ยงที่จะใช้มาตรการล็อคดาวน์แบบในคราวแรก เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ขณะเดียวกันจากการแพร่ระบาดที่เป็นวงกว้างขนาดนี้ มาตรการดังกล่าวก็อาจจะไม่ได้ผล เพราะเราไม่สามารถทราบที่มาที่ไปต้นตอของการแพร่ระบาดได้  สิ่งที่ควรต้องทำเร่งด่วนคือต้องพยายามตรวจคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อแล้วโดยเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มแรงงานต่างด้าว ผู้ที่ลักลอบข้ามแดนไปทำงาน หรือไปเล่นการพนัน”

ห้วงเวลานี้คนไทยเราควรทำอย่างไร  ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้นำการขับเคลื่อนความร่วมมือสร้างสังคมสุขภาวะ  Imagine Thailand Movement  ซึ่งเป็นผู้นำความคิดเชิงบวก แนะนำ 5 สิ่งต้องทำ ในสถานการณ์นี้ว่า

1.ควรตระหนัก ไม่ตระหนก เพราะเราคงไม่สามารถหยุดอยู่กับที่แล้วรอจนกระทั่งให้ไวรัสหายไป  โดยมีส่วนร่วม ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดให้เคร่งครัดที่สุด   และร่วมกันให้กำลังใจเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร และภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นแถวหน้ารับมือกับโรคระบาดนี้อย่างหนักหน่วง

2.สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นประจำคือ ต้องดูแลตนเองด้านสุขอนามัยอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า อย่าให้การ์ดตก โดยการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ กินร้อน ช้อนกลางของเรา หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกันกับผู้อื่น รักษาระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่แออัด เรียกว่าอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ

3.สิ่งที่ต้องสร้างให้ตนเองทุกวันคือ การสร้างมุมมองในเชิงบวก เพราะในทุกโอกาสจะมีวิกฤต และในทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมอง โดยพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์อย่างแจ่มแจ้ง ค่อยๆ บริหารจัดการ จัดลำดับความสำคัญ โดยใช้สติปัญญา มากกว่าการใช้อารมณ์  ซึ่งไม่ได้ผล และเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

4.ในการทำงานสิ่งที่เราควรต้องทำ คือวางแผนกิจกรรม การบริหารงาน บริหารกิจการ ที่ต้องทำ ให้ต่อเนื่อง ตลอดจนเติมความรู้ ทักษะที่จำเป็นใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยหากภายในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนนี้ ประมาณวันที่ 24 มกราคม 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไม่พุ่งขึ้นเป็นหลักหลายพันคน ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เชื่อว่าภาครัฐก็น่าที่จะคลายมาตรการเรื่องของความร่วมมือในการจำกัดการเดินทางลง

5.ภายในครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในบ้าน หรือภายในชุมชน ควรจะต้องมีการช่วยกันสร้างพลังบวก ให้แก่กันเสมอ  แม้สมาชิกในครอบครัวจะมีความเห็นต่างกัน ในหลายๆเรื่อง  รวมถึงเรื่องรับมือกับการแพร่ระบาด หรือมีความไม่เข้าใจกันเนื่องจากวัยที่ต่างกัน ส่งผลต่อการรับรู้ที่ต่างกัน  ในสถานการณ์ที่มีความเปราะบางของอารมณ์ความรู้สึก  ขอให้มีการรับฟังกันอย่างตั้งใจ  เปิดใจ และเข้าใจว่า ความเห็นต่างเป็นปกติ  ควรเลี่ยงการโต้เถียง เลี่ยงการใช้อารมณ์ที่มักเกิดจากจินตนาการของตนเอง โดยให้ใช้วิธีรับฟัง ให้เต็มที่ก่อน  มีการเติมเต็ม ให้ข้อคิด ให้กำลังใจกันเสมอ

ห้องปฏิบัติการทางสังคม  และ Imagine Thailand Movement  กำลังขับเคลื่อน ความร่วมมือเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ  ลดปัจจัยเสี่ยงให้เยาวชนไทย และสืบสานคุณค่าสังคมอายุยืน  โดยท่านสามารถดูรายละเอียดหรือมีส่วนร่วมได้ที่ Facebook: Imagine Thailand Movement https://www.facebook.com/imaginethailandmovement/

——————–

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *