สืบเนื่องจากวันที่ 14 มกราคมของทุกปี ถือเป็นวันครบรอบการถึงแก่กรรมของ ศ.ดร.อำนวย คอวนิช อดีตผู้อำนวยการของ อ.อ.ป. ผู้ริเริ่มพัฒนากิจการอุตสาหกรรมไม้ ทั้งในด้านการทำไม้ การอุตสาหกรรมไม้ และการสร้างแหล่งทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนพัฒนาชุมชนป่าไม้ และยังดูแลใส่ใจการเลี้ยงดูช้างให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย
ในการนี้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้จัดพิธีวางพวงมาลารูปปั้น ท่าน ศ.ดร.อำนวย คอวนิช ขึ้น 2 แห่ง ได้แก่ อ.อ.ป. กรุงเทพฯ และสวนป่าทุ่งเกวียน จังหวัดลำปาง ซึ่งในโอกาสนี้ นางพรเพ็ญ วรวิลาวัณย์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และพนักงาน อ.อ.ป. ได้ร่วมแสดงกตัญญุตาระลึกถึงคุณูปการของ ศ.ดร.อำนวย คอวนิช ณ รูปปั้นท่าน ศ.ดร.อำนวย คอวนิช อ.อ.ป. กรุงเทพฯ ชั้น 3
สำหรับผลงานสำคัญที่ ศ.ดร.อำนวย คอวนิช ได้เป็นผู้ริเริ่ม อาทิ ในปี พ.ศ. 2504 จัดสร้างเครื่องเลื่อยเคลื่อนที่และยังจัดตั้งโรงงานไม้ประสานเป็นโรงงานตัวอย่างขึ้นที่จังหวัดลำปาง จัดทำบ้านสำเร็จรูปของ อ.อ.ป.รวมถึงการจัดทำเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปออกจำหน่ายอีกทั้งยังริเริ่มงานด้านการปลูกสร้างสวนป่าแบบสมัยใหม่ให้กับ อ.อ.ป., ในปี พ.ศ. 2506 ริเริ่มนำเครื่องจักรกลมาใช้ในการทำไม้สักของประเทศไทย, ในปี พ.ศ. 2510 พัฒนาระบบหมู่บ้านป่าไม้โดยอาศัยหลักการพัฒนาสังคมชนบทเป็นหลักควบคู่ไปกับการป่าไม้ และ อ.อ.ป. ได้ปลูกสร้างสวนป่าไม้เศรษฐกิจ “เพื่อการใช้สอยทดแทนไม้จากป่าธรรมชาติ” ทำให้ในปัจจุบัน อ.อ.ป. สามารถขยายสวนป่าเศรษฐกิจทั่วประเทศ มีพื้นที่รวมประมาณ 1.107 ล้านไร่ กอปรกับแนวคิดระบบหมู่บ้านป่าไม้ข้างต้นทำให้รัฐบาลไทยถือเป็นนโยบายระดับชาติในปี พ.ศ. 2517, องค์การสหประชาชาติจึงได้ยึดถือเป็นต้นแบบว่าด้วย การเคลื่อนย้ายถิ่นของพลเมือง ซึ่งได้เผยแพร่เป็นภาพยนตร์แก่ประเทศสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. 2518
นอกจากนั้น การอนุรักษ์และบริบาลช้างไทย ศ.ดร.อำนวยฯ ยังคงให้ความสำคัญไม่แพ้การปลูกสร้างสวนป่า ยกตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2512 ได้จัดตั้ง “ศูนย์ฝึกลูกช้าง” ขึ้นที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งถือเป็นโรงเรียนฝึกลูกช้างแห่งแรกของโลก โดยเล็งเห็นถึงความปลอดภัยของลูกช้าง ที่ต้องล้มตายจากสัตว์มีพิษและสัตว์ร้ายตลอดจนอุบัติเหตุตกเขา เพื่อให้ลูกช้างได้อยู่ใกล้ชิดกับสัตวแพทย์ และได้เข้ารับการฝึกรับคำสั่งจากควาญช้าง ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวจัดตั้งเป็น “ศูนย์บริบาลช้างบ้านปางหละ” ใช้ในการดูแลช้างชรา ช้างเจ็บป่วยและพิการ เนื่องจากพื้นที่เดิมของศูนย์ฝึกลูกช้างข้างต้นมีเนื้อที่จำกัด ไม่สามารถรองรับจำนวนช้างที่รวมกันอยู่เป็นจำนวนมากได้ ในปี พ.ศ. 2534 ได้ย้ายช้างมาเลี้ยงดูที่บริเวณสวนป่าทุ่งเกวียน อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และได้ก่อตั้งเป็น “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา และพระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2535 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้ยกฐานะจาก “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย” เป็น “สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช -นครินทร์” จนถึงปัจจุบัน
นับได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ ศ.ดร.อำนวย คอวนิช ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ท่านได้ช่วยพัฒนากิจการอุตสาหกรรมไม้ภายในประเทศไทยในทุกๆ ด้าน นับได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลที่ทรงคุณค่าอีกท่านหนึ่ง และเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2539 ศ.ดร.อำนวย คอวนิช ได้ถึงแก่กรรม อ.อ.ป. จึงถือให้วันที่ 14 มกราคมของทุกปี เป็นวันรำลึกถึง “ศ.ดร.อำนวย คอวนิช” เพื่อเป็นการไว้อาลัยและระลึกถึงคุณงามความดีของท่านสืบไป