กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จับมือภาคีเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยมีเป้าหมายให้ประชาชนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 75 ในปี พ.ศ.2573 ด้วยยุทธศาสตร์ 5x5x5
(วันนี้ 15 มกราคม 2564) นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561 – 2573 ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทย กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างเดิม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรค รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ อาทิ สวนสาธารณะ สนามกีฬาปิดให้บริการชั่วคราว สถานที่ทำงานมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน (work from home) สถานศึกษามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นทางออนไลน์ ส่งผลให้ปัจจุบันคนมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ออกกำลังกายและการเล่นกีฬาลดน้อยลง ซึ่งอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ทำให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยทุกช่วงวัยลดลง จากร้อยละ 74.6 ในปี พ.ศ. 2562 เหลือเพียงร้อยละ 55.5 ในปี พ.ศ. 2563
นายแพทย์บัญชา กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการระดมความคิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภาคส่วนนโยบาย วิชาการ และประชาสังคม ในการร่วมออกแบบมาตรการ นโยบายต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยหวังให้ประชาชนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น โดยยึดตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561 – 2573 มีวิสัยทัศน์ คือ ประชาชนมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงด้วยกิจกรรมทางกาย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การดำเนินงานขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ 5 x 5 x 5 คือ 5 กลุ่มวัย ได้แก่ 1) กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 2) กลุ่มเด็กเยาวชน 3) กลุ่มวัยรุ่น 4) กลุ่มวัยทำงาน และ5) กลุ่มผู้สูงอายุ 5 ด้านการส่งเสริม สภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Sector/Setting approach) ได้แก่ 1) ด้านระบบการศึกษา 2) ด้านระบบธุรกิจสถานประกอบการ 3) ด้านสวนสาธารณะ นันทนาการ สถานออกกำลังกาย และกีฬามวลชน 4) ด้านสถานพยาบาลในระบบสาธารณสุข 5) ด้านคมนาคมขนส่ง ผังเมือง และชุมชน และ 5 ระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (Supporting System) ได้แก่ 1) ระบบกระบวนการ 2) ระบบวิจัย 3) ระบบติดตามประเมินผล 4) ระบบพัฒนาศักยภาพ และ 5) ระบบการรณรงค์ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
“ทั้งนี้ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอหรือการออกกำลังกายให้ได้ผลดีต่อสุขภาพนั้น ประชาชนต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 – 5 วัน วันละไม่น้อยกว่า 30 นาที จึงจะสามารถช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจ หัวใจ ปอด และหลอดเลือด ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้นลดการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งช่วยในเรื่องของสภาพจิตใจ และการเข้าสังคม ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียดจากการทำงานหรือจากการเรียน และช่วยให้นอนหลับได้สนิทต่อเนื่องยาวนานมากขึ้นด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว