สนค. และ สศก. เดินหน้าการจัดทำฐานข้อมูลภาคเกษตรขนาดใหญ่ร่วมกัน ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” และยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ตั้งเป้าหมายผสานข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้ทุกกลุ่มเข้าถึงข้อมูลสินค้าเกษตรและอาหารชุดเดียวกันในอนาคต อันจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรและอาหารไทย
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
และนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดฯ ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวนกว่า 25 หน่วยงาน โดยมีสนค. และ สศก. เป็นประธานและฝ่ายเลขานุการฯ ร่วม โดยการประชุมครั้งแรกนี้ มีการนำเสนอสิ่งที่ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการไปแล้วเกี่ยวกับฐานข้อมูลสินค้าเกษตร พิจารณาจุดที่สามารถเติมเต็มให้กันได้ (gap analysis) และหารือเกี่ยวกับแผนงานดำเนินการเบื้องต้นของปี 2564-2566
นางสาวพิมพ์ชนกฯ กล่าวว่า ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ต่างให้ความสำคัญงานด้านข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากหน้าที่ของสองกระทรวงที่ต่างกัน คือเกษตรเน้นด้านการผลิต พาณิชย์เน้นไปด้านการขาย ข้อมูลที่มีจึงสามารถนำมาต่อร้อยเรียงกันให้เห็นภาพได้ตลอดสายการผลิตสินค้าเกษตรโดยที่อาจมีบางส่วนที่ทับซ้อนกันบ้าง แต่ฝ่ายเลขานุการจะหารือในรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดขอบเขตและเป้าหมายการทำงานร่วมกัน คือ “การสร้าง Big data เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกร ให้มีคุณภาพ มาตรฐานปลอดภัย และมีมูลค่าเพิ่ม ตรงกับความต้องการของตลาดในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูง มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน และยกระดับให้เกษตรกรสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก (Local to Global)”
ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ระบบฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลภาคเกษตรนี้ ต้องตอบโจทย์และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ทั้งในระดับผู้บริหาร และผู้ใช้งานทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน การดำเนินงานด้านข้อมูลจำเป็นต้องมีการทำธรรมาธิบาลข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง แม่นยำ ไม่ซับซ้อน นำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ในทุกภาคส่วน ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงานที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน (Quick win) ได้แก่ การจัดทำข้อมูลและออกแบบการแสดงผลที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการ อาทิ ข้อมูลราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา สำหรับระยะกลางและยาว คือ การร่วมสร้างชุดข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ โดยอาจพิจารณาขยายไปยังกลุ่มสินค้าอาหาร อาทิ อาหารฮาลาล และสินค้าอินทรีย์
นางสาวพิมพ์ชนกฯ ย้ำว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ จะได้ร่วมมือกันบูรณาการระบบข้อมูลของภาคเกษตรให้เป็นชุดเดียวกัน และจะนำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้ประโยชน์จาก Big Data ของผู้ใช้งานทุกระดับ ได้แก่ ผู้บริหารกระทรวงและหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออก และประชาชน รวมถึงสามารถนำมาใช้ในการยกระดับเศรษฐกิจการค้าของประเทศ การดูแลราคาสินค้าเกษตร แก้ปัญหาสินค้าขาด/ล้นตลาด และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
————–