สาธารณสุข น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ยกย่อง สยามไบโอไซเอนซ์ เผย รัชกาลที่ 9 ทรงวางแนวทางไว้ รัชกาลที่ 10 พระราชทานทรัพย์หลายพันล้านบาท ช่วยวงการแพทย์สู้โควิด 19
วันที่ 19 มกราคม 2564 นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ 595 ล้านบาท บวกกับทางด้าน SCG สนับสนุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อมาจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ พัฒนาขีดความสามารถจนเข้าคุณลักษณะของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้ มันเป็นความพยายามของทีมประเทศไทย ไม่ใช่ว่านึกอยากจะทำก็ทำ ไม่ได้นะครับ เราต้องมีพื้นฐานอยู่เดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้
ทรงวางแนวทางไว้เลยว่า “Our loss is our gain” หมายถึงว่า บริษัทการผลิตยาชีววัตถุเนี่ยมันต้องลงทุนมหาศาล แล้วรายได้หรือว่าผลกำไรในแต่ละปีมันไม่เพียงพอที่จะมาคืนทุนได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ฉะนั้นจึงเป็น Our loss หมายถึง เป็นการขาดทุน แต่เพื่อกำไร เพื่อกำไรก็คือการที่ประเทศไทยเรามีศักยภาพในการผลิตยาชีววัตถุลดการนำเข้า เป็นการประหยัดงบประมาณในส่วนของภาพรวมของงานทางด้านสาธารณสุข ซึ่งคนที่ไม่เห็นก็อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นการไปสนับสนุนบริษัทที่มีการขาดทุนแต่จริง ๆ ไม่ใช่ เพราะนี้เป็นไปตามหลักปรัชญาที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้เรา
การที่เรามีต้นทุน ทางด้านคน ทางด้านความรู้ ศักยภาพที่เรามีจึงเป็นเหตุให้เราได้รับการคัดเลือกจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในวันนี้ ถ้าไม่ได้มีการทำไว้แต่ก่อนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา วันนี้ไม่มีและเราก็ไม่มีวัคซีนที่จะเข้าถึง การที่เราได้เข้าถึงวัคซีน 26 ล้านโดส แล้วที่รัฐบาลได้อนุมัติให้ไปเจรจาจองซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส ทั้งหมดก็เพื่อจะจัดหาวัคซีนมาให้เพียงพอต่อความต้องการ
ผมเรียนพี่น้องประชาชนนะครับ ไม่ต้องกังวลว่าเราจะไม่มีวัคซีนเพียงพอ มีเพียงพอแน่นอนสำหรับความต้องการของพวกเราทุกคน เราสามารถที่จะผลิตวัคซีนได้เอง แม้ว่าจะเป็นสิทธิ์ในการจำหน่ายของแอสตร้าเซนเนก้า แต่ก็อยู่บนฐานความร่วมมือและเราก็จะสามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตด้วยหากมีการระบาดของโรคติดต่อหวัดใหม่
ดังนั้นการที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เข้ามาร่วมในการทำงานในลักษณะทีมประเทศไทย เป็นเรื่องที่ต้องน่าสรรเสริญ เพราะบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ต้องหยุดการผลิตสินค้าหรือว่าชีววัตถุที่มีอยู่เดิมทั้งหมดที่สร้างรายได้ในแต่ละปี ต้องหยุดไป แล้วมาพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัคซีน ทุกวันนี้ทำกัน 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เพื่อให้ได้วัคซีนให้ได้ตรงตามที่เราคาดหมายไว้
ด้าน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข อยากจะแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันกษัตริย์ไทย ที่มีต่อการแพทย์และการสาธารณสุขมาโดยตลอด การแพทย์และการสาธารณสุขของเรา โดยที่เป็นระบบสมัยใหม่เนี่ยเริ่มตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นคนวางรากฐานเป็นคนแรก และก็จากนั้นในหลวงรัชกาลต่าง ๆ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จพระราชบิดากรมหลวงสงขลานครินทร์ ก็ได้ทรงทำนุบำรุงพัฒนาต่อยอดทางการแพทย์จนไม่น้อยหน้าใครประเทศใดในโลก
สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ยังมีการพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ พระราชทานเงินให้แก่บุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรทางสาธารณสุขทั่วไปเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ รวมทั้งทางการแพทย์ ทางการทรัพย์ในวาระต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเอาไปดำเนินการพัฒนาสิ่งก่อสร้าง สถานที่ รวมทั้งเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในการดูแลประชาชน
ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ช่วงปี 2562-2563 พระองค์พระราชทาน 3 เรื่อง อย่างที่หนึ่ง ก็คือ พระราชทานคำแนะนำในการดูแลเรื่องของการแพร่เชื้อและการกระจายเชื้อของโรคโควิด 19 พระองค์พระราชทานกำลังใจอย่างสม่ำเสมอ พระองค์พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์หลายครา วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 พระองค์พระราชทานถึง 2,400 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ และวันถัดมาอีก 631 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ พระองค์พระราชทานเวชภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รถพยาบาลหลายคัน รวมทั้งรถเก็บตัวอย่างโควิด-19 จำนวน 20 คัน พระราชทานชุดป้องกัน พระราชทานหน้ากากอนามัย พระราชทานถุงยังชีพ พระราชทานเจลแอลกอฮอล์ เพื่อให้ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อ อันนี้ก็ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีต่อประชาชนชาวไทย
ซึ่งถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้มากระทรวงสาธารณสุขไม่มีประสิทธิภาพในการดูแลและการควบคุมการติดเชื้อโควิดได้เท่าปัจจุบัน ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง พวกเราประชาชนชาวสาธารณสุข ประชาชนชาวไทย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง อยากจะให้พวกเราเนี่ยทำความเข้าใจและก็ร่วมกันแสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันกษัตริย์ไทย ต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขไทยด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
ภาพจาก สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์