5 ชุมชนตัวอย่างอนุรักษ์พลังงาน ลดการใช้ไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์

รวม 5 ชุมชนตัวอย่างด้านการอนุรักษ์พลังงาน นำโซลาร์เซลล์มาใช้ผลิตไฟฟ้าอย่างจริงจัง จนช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ แถมยังเป็นต้นแบบให้กับที่อื่น

โซลาร์เซลล์ชุมชน

นอกจากการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์โดยตรง เช่น ตากผ้า ตากแห้ง อบอาหาร อบผลไม้ ทำนาเกลือ และทำเตาแสงอาทิตย์แล้ว เรายังนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้าผ่านโซลาร์เซลล์ได้อีกด้วย ทว่าอย่างหลังนี้หลายคนมักคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วอยู่ใกล้ตัวมาก เพราะประเทศไทยขึ้นชื่อว่ามีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง แถมชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ ก็หันมาใช้พลังงานทดแทนชนิดนี้กันหลายแห่ง ฉะนั้นวันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 5 ชุมชนตัวอย่างนักอนุรักษ์พลังงาน ที่นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์กันว่า มีวิธีการอย่างไร และสร้างประโยชน์ในด้านใดให้กับชุมชนบ้าง

1. ต.หนองตาแต้ม จ.ประจวบคีรีขันธ์

ต.หนองตาแต้ม จ.ประจวบคีรีขันธ์

ภาพจาก เฟซบุ๊ก องค์การบริหารส่วนตำบล หนองตาแต้มต.หนองตาแต้ม จ.ประจวบคีรีขันธ์

ภาพจาก เฟซบุ๊ก องค์การบริหารส่วนตำบล หนองตาแต้ม

ในอดีตชาวบ้านหมู่ที่ 8 อยู่ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย ไม่สามารถสร้างสายส่งไฟได้ ดังนั้น ทาง อบต. จึงเข้ามาช่วยแก้ไข ด้วยการส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ จนทำให้ชาวบ้านกว่า 400 หลังคาเรือน ที่เคยประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า ได้มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือนและทุกพื้นที่เกษตร 

นอกจากนี้ ยังจัดหาช่างชุมชน สร้างศูนย์การเรียนรู้ และก่อตั้งกองทุนหมุนเวียน เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงคอยพัฒนาและต่อยอดอยู่ตลอด เช่น การทำเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยระบบโซลาร์เซลล์ จนได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการเข้าถึงพลังงานจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ในปี 2019

2. ต.ป่าเด็ง จ.เพชรบุรี

ต.ป่าเด็ง จ.เพชรบุรี

ภาพจาก เฟซบุ๊ก เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อบ้านป่าเด็งต.ป่าเด็ง จ.เพชรบุรี

ภาพจาก เฟซบุ๊ก เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อบ้านป่าเด็งต.ป่าเด็ง จ.เพชรบุรี

ภาพจาก เฟซบุ๊ก เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อบ้านป่าเด็ง

อีกหนึ่งชุมชนที่ต้องยกให้เป็นตัวอย่างด้านการอนุรักษ์พลังงานก็คือ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพราะชาวบ้านที่นี่ก่อตั้ง “เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อบ้านป่าเด็ง” มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเกิดจากการที่คนในพื้นที่เรียนรู้และลงมือทำเองจนเกิดเป็น “ป่าเด็งโมเดล” และพัฒนาเป็น “สถาบันการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานทางเลือก” เพื่อให้ความรู้กับชุมชนอื่น และช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนไฟฟ้า รวมทั้งยังเป็นต้นแบบเรื่องการพึ่งตนเอง แถมในปี 2017 ยังคว้ารางวัลทั้งระดับประเทศและระดับอาเซียนมาครองมากมาย เช่น รางวัลสุดยอดคนพลังงาน ปี 2017 รางวัลชนะเลิศ Thailand Energy Awards 2017 และรางวัลชนะเลิศ ASEAN Energy Awards 2017

3. อ.แม่ทา จ.ลำพูน

อ.แม่ทา จ.ลำพูน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Smart Energy Thailand โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)อ.แม่ทา จ.ลำพูน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Smart Energy Thailand โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

พื้นที่ของ 3 ชุมชน (ชุมชนบ้านผาด่าน ชุมชนบ้านแม่สะแงะ และชุมชนบ้านปงผาง) ใน ต.ทากาศ อ.แม่ทา จ.ลำพูน ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และค่อนข้างทุรกันดาร จึงทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า รวมถึงระบบน้ำเพื่อการอุปโภค การบริโภค และการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กระทรวงพลังงาน และสมาคมพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน (สพย.) เลยอาสายื่นมือเข้ามาช่วย 

โดยมีการทำต้นแบบไมโครกริด นำระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Grid Interactive ขนาด 102 กิโลวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงานขนาด 307.20 กิโลวัตต์-ชั่วโมง และเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาติดตั้ง พร้อมทั้งวางโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนและระบบสูบน้ำ โดยควบคุมให้ใช้ได้ไม่เกิน 500 วัตต์/ครัวเรือน ที่ช่วยให้ชาวบ้านมีไฟและน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังกลายเป็นต้นแบบไมโครกริดชุมชนที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับชุมชนอื่น ๆ ต่อไปอีกด้วย

4. อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

ภาพจาก greenpeaceอ.เกาะลันตา จ.กระบี่

ภาพจาก greenpeaceอ.เกาะลันตา จ.กระบี่

ภาพจาก greenpeace

จุดเริ่มต้นการเป็นชุมชนอนุรักษ์พลังงานของเกาะลันตา จ.กระบี่ มาจากปัญหาความขัดข้องทางด้านไฟฟ้า จนทำให้ไฟดับบ่อย และเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายประจำ ซึ่งสาเหตุก็เป็นเพราะตัวเกาะตั้งอยู่กลางทะเลและเป็นปลายทางสุดท้ายของสายส่งไฟ ฉะนั้นผู้คนที่อยู่บนเกาะจึงระดมความคิดและช่วยกันหาทางออก จนมาจบที่การผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วยโซลาร์เซลล์ โดยในช่วงแรกเริ่มที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม รีสอร์ต และร้านอาหาร ก่อนจะได้ช่วยเสริมภาพลักษณ์ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ช่วยให้ชาวบ้านใช้ไฟอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และช่วยกระตุ้นให้คนหันมาใช้พลังงานทดแทน ถือเป็นการอนุรักษ์พลังงานไปในตัว 

แม้ว่าโครงการจะเพิ่งเริ่มไม่นาน แต่ก็มีผู้เข้าร่วมเยอะมาก จนถือเป็นเกาะแห่งแรกของไทยที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง งานนี้คนในชุมชนจึงตั้งเป้าว่าจะพัฒนาเป็น “ลันตาโมเดล” ทำให้เกาะลันตากลายเป็นเมืองหลวงของโซลาร์เซลล์ และทำให้ทุกคนหันมาร่วมมือกันมากขึ้นนั่นเอง

5. อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

ภาพจาก ศูนย์บริการวิชาการที่ 9 (จ.นครศรีธรรมราช)อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

ภาพจาก ศูนย์บริการวิชาการที่ 9 (จ.นครศรีธรรมราช)

อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นสุดยอดชุมชนตัวอย่างที่แท้จริง เพราะนอกจากจะเป็นต้นแบบแห่งการจัดการขยะแล้ว ยังเป็นต้นแบบแห่งการอนุรักษ์พลังงานด้วย โดยในปี 2555-2556 ได้จัดตั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ หยิบแนวคิดการนำพลังงานสะอาดมาใช้แทนพลังงานไฟฟ้า เพื่อสร้างแสงสว่างให้กับห้องประชุมของเทศบาล 

โดยมีกระบวนการคือ นำโซลาร์เซลล์ขนาด 0.65 x 1.25 เมตร จำนวน 40 แผง และแบตเตอรี่ขนาด 200 แอมป์ จำนวน 2 ลูก มาติดตั้ง จากนั้นส่งต่อไปใช้กับหลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์ จำนวน 90 หลอด หลอดละ 22 วัตต์ วันละ 6 ชั่วโมง ปีละ 320 วัน จนช่วยให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงถึงปีละ 3,801.60 หน่วย เลยทีเดียว กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในชุมชนหันมาสนใจพลังงานทดแทนกันมากขึ้น ซึ่งทาง อ. ทุ่งสง ก็ยังคงต่อยอดอยู่เสมอ โดยในปัจจุบันมีการพานักเรียนไปศึกษาเรื่องพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ณ อุทยานพลังงาน ศบ.9 เพื่อช่วยปลูกฝังความคิดและให้ความรู้ด้วย

ทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับพลังงานฟอสซิลที่มีจำกัดและใกล้จะหมดไป ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาใช้พลังงานทดแทนกันอย่างจริงจัง นำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นพลังงานสะอาด ไม่มีวันหมด และใช้ประโยชน์ได้ทุกพื้นที่ มาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเหมือนอย่างเช่นชุมชนตัวอย่างที่เรานำมาฝากเหล่านี้ ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่า นอกจากจะช่วยลดการใช้พลังงานลงแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและประหยัดเงินค่าไฟไปในตัวด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ ผู้ตรวจสอบข้อมูล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
Power of We
สถาบันวิทยาการพลังงาน
ฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและพื้นที่สีเขียว
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตาแต้ม
สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *