สสส. หนุน “ตำบลสายพันธุ์ใหม่” เฝ้าระวัง-ป้องกัน-รับมือโรคติดต่อ ปลุกชุมชนท้องถิ่นสร้าง “นักพัฒนาเฝ้าระวัง” อบต.แว้ง จ.นราธิวาส ถอดบทเรียน สร้างทีมเวิร์ครับมือ “โควิด” ระลอกใหม่ มั่นใจเอาอยู่ อบต.เสม็ดใต้ จ.ฉะเชิงเทรา เน้นใช้สื่อโซเชียลให้ความรู้เข้มข้น สร้างเกราะป้องกันชุมชน

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 101 แห่ง ดำเนิน โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งให้ชุมชนท้องถิ่นสร้างกลไกเฝ้าระวังโรคติดต่อทุกโรคที่เกิดขึ้นในชุมชน เน้นสื่อสารและรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อ หาวิธีการจัดการเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบ รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขจัด ควบคุม เฝ้าระวัง และป้องกันโรคติดต่อ สร้างความร่วมมือ 4 องค์กรหลักในชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วย ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา พัฒนาตนเองเป็น “ตำบลสายพันธุ์ใหม่” ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น มีแนวทางการแก้ปัญหาชัดเจน พัฒนาระบบข้อมูล เครื่องมือ กลไก สร้างความเข้าใจ และเพิ่มทักษะ ประสบการณ์ให้กับผู้เกี่ยวข้องมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเตรียมการและเฝ้าระวัง ระยะควบคุมการระบาด และระยะฟื้นฟู

“สสส.สนับสนุนให้ท้องถิ่นสร้าง “นักพัฒนาเฝ้าระวัง” อย่างช่วงที่โควิด-19 ระบาดเมื่อปีก่อน พนักงานท้องถิ่นไม่มีความรู้เลย ไม่รู้จะรับมืออย่างไร กว่าจะตั้งหลักได้ ก็ใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นแต่ละท้องถิ่นต้องพัฒนาบุคลากรของตัวเองให้มีความพร้อม ซึ่งการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทุกคนพร้อมมากยิ่งขึ้น สามารถเป็นต้นแบบของท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศในการจัดการกับโรคติดต่อในพื้นที่” นางสาวดวงพร กล่าว


ด้านนางสาวจุฑามณี หามะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส กล่าวว่า ได้ถอดบทเรียนการเกิดโควิดรอบแรก จึงได้เตรียมพร้อม ยกระดับการทำงาน นำบทเรียนมาต่อยอด พัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการปฏิบัติงาน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาให้ความรู้กับพนักงาน รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในเรื่องจิตวิทยาสำหรับไปดูแลชาวบ้านด้วย โดย อบต. เป็นแกนหลักสำคัญ แล้วประสานความร่วมมือกับ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ คือ ท้องที่ ท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน ภาครัฐและเอกชน พร้อมด้วยผู้นำทาง ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันจนสามารถฝ่าวิกฤตช่วงนั้นไปได้ ซึ่งบทเรียนการทำงานเพื่อรับมือกับโควิดที่ผ่านมา หัวใจสำคัญ คือทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมทั้งผู้นำศาสนา ต้องพูดคุย สื่อสาร ทำความเข้าใจร่วมกัน หากเปิดอกคุยกัน ทุกปัญหาก็จะฝ่าฟันไปได้ และหากการระบาดกลับมาอีกครั้ง ทาง อบต.แว้งก็มั่นใจว่ามีทีมเวิร์คแข็งแกร่งสามารถรับมือได้แน่นอน และมั่นใจด้วยว่า ไม่ว่าโรคระบาดอื่นใดมา ทีมทำงานจะสามารถรับมือได้หมด

นายกิตติพงศ์ สีเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อบต. ได้ทำความเข้าใจ และให้ความรู้บุคลากรท้องถิ่นมีประมาณ 60 คน ในการเผยแพร่นำข้อมูลสู่ชาวบ้าน ขณะเดียวกันได้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียไว้พูดคุยและส่งถ่ายข้อมูลระหว่างกัน ทั้ง คำสั่งทางราชการ หนังสือราชการ หรือข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อได้รับรู้ทันสถานการณ์ร่วมกัน เพราะแม้ในพื้นที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่ชาวบ้านก็หวาดวิตกกันถ้วนหน้า เพราะอยู่ติดกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้นจึงระมัดระวังเช่นเดิม แต่ไม่ได้ปิดกั้นพื้นที่ เพราะเข้าใจในวิถีชีวิตคนที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน โดยเน้นสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบตัวเองและสังคม ถ้าไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ก็ต้องแจ้ง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ อสม. ปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐ มีระเบียบวินัยมากขึ้น รู้จักป้องกันตัว เว้นระยะห่าง จัดระบบในการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันตัวเองโดยอัตโนมัติ

————–

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *