กรมอนามัย ห่วงสุขภาพพ่อค้าแม่ค้า แผงลอยริมทาง หวั่นฝุ่นจิ๋ว ทำสุขภาพแย่

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงพ่อค้าแม่ค้าแผงลอยริมทาง รวมทั้งตำรวจจราจร พนักงานกวาดถนน คนขับรถตุ๊ก ๆ และจักรยานยนต์ ที่ต้องเจอฝุ่นละออง ขนาดเล็ก PM2.5 ทุกวัน แนะสวมหน้ากากเพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูง อาชีพที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองสูง หรืออยู่กลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน ๆ ได้แก่ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างหรือวินมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มอาชีพทำความสะอาดถนนหรือกวาดถนน พ่อค้า แม่ค้าริมทาง รวมถึงตำรวจจราจร อาจได้รับสัมผัสฝุ่นละอองเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ การป้องกันจึงควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หรือหลบเข้าไปพักในอาคารเป็นบางเวลา ส่วนการจำหน่ายอาหารบนบาทวิถีบางจุดเป็นสถานที่ที่มีควันรถ และฝุ่นละอองจากถนน การเตรียมปรุงประกอบอาหารที่ไม่มีอุปกรณ์กำบังเพียงพอทำให้อาหารเสี่ยงต่อการปนเปื้อนฝุ่นหรือควันจากท่อไอเสียรถยนต์ โดยเฉพาะสถานที่จำหน่ายอาหารที่เปิดโล่ง ไม่มีการป้องกันฝุ่นควันที่ตกลงไปปนเปื้อนในอาหาร ดังนั้น ก่อนการปรุงประกอบอาหารทุกครั้ง ควรล้างเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ให้สะอาด รวมถึงภาชนะอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ จาน ชาม ช้อน ควรล้างให้สะอาดและมีการปกปิดอย่างมิดชิด ส่วนผู้บริโภค ควรเลือกซื้ออาหารจากแผงลอยที่มีการปกปิดอาหาร เช่น ใส่ตู้กระจก หม้อที่มีฝาปิด เป็นต้น สำหรับผู้จำหน่ายอาหารประเภทปิ้งย่าง ควรใช้เตาไฟฟ้าหรือเตาไร้ควัน ซึ่งจะช่วยลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 และขณะปฏิบัติงานควรยืนเหนือลม ที่สำคัญประชาชนผู้บริโภคควรล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันอันตรายจากการสัมผัสฝุ่นละอองต่าง ๆ และเชื้อโรค เข้าสู่ร่างกาย จากการหยิบจับอาหารผ่านมือได้
“ทั้งนี้ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง อาทิ ตำรวจจราจร พนักงานทำความสะอาดถนน คนขับรถรับจ้างประเภทรถตุ๊ก ๆ และจักรยานยนต์ เป็นผู้ที่สัมผัสฝุ่นตลอดเวลา จึงต้องรู้จักป้องกันตนเองให้มากขึ้น โดยสวมหน้ากากอนามัยหรือ N95 ที่เหมาะสม ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ล้างมือ ล้างหน้า ล้างตาให้บ่อยขึ้น และหลังจากปฏิบัติงานเสร็จแล้วต้องอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายและซักเสื้อผ้าที่สวมใส่เพื่อสุขอนามัยที่ดี หากพบมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการหายใจติดขัดแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ด้านผลกระทบต่อสุขภาพ (ศกพ.ส) หรือทาง “Facebook กรมอนามัย และ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้บ้านได้ทุกแห่ง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *