12 สมุนไพร-ไม้หอมไทย แก้ปวดเมื่อย-คลายเครียด

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะประชาชนใช้พืชผักสมุนไพร ปรุงเป็นอาหาร และกลิ่นสมุนไพรจากธรรมชาติ เพื่อผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจ ลดอาการตึงเครียด

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเครียด วิตกกังวล ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนไทยคนที่มีอาการเครียด จะเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก นอนไม่หลับ  การบรรเทาความเครียดโดยใช้พืช ผัก สมุนไพรมาปรุงเป็นอาหาร โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องเทศ และ กลุ่มดอกไม้หอม 

กลุ่มเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ร้อน ได้แก่  

  • ขิง 
  • ขมิ้นชัน กะเพรา 
  • กระเทียม 
  • กระชาย 
  • ตะไคร้ 
  • หอมแดง 
  • ใบมะกรูด 
  • มะนาว 

Advertisement

สมุนไพรเหล่านี้ จะช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดลมไหลเวียนดี สามารถบรรเทาอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการการบีบตัวของลำไส้ ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้เป็นปกติ และยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ร่างกายแข็งแรง 

สำหรับเมนูอาหารที่สามารถนำสมุนไพรกลุ่มนี้ไปทำเป็นอาหาร ได้แก่ ต้มยำ ต้มโคล้ง ต้มจืดกะเพรา และเมนูยำต่างๆ ที่สำคัญคือ ต้องปรุงสุก สด ใหม่เสมอ 

ส่วนน้ำสมุนไพร ได้แก่ น้ำขิง น้ำตะไคร้ ชาใบหม่อน น้ำมะนาว เป็นต้น  

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มดอกไม้หอม ได้แก่  

  • ดอกมะลิ 
  • จำปี 
  • จำปา
  • กุหลาบมอญ 

กลิ่นของสมุนไพรดังกล่าว มีผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี ความเครียด ช่วยให้นอนหลับได้สนิท

นอกจากนี้ยังมีตำรับยาสมุนไพรที่ช่วยเรื่องการผ่อนคลายที่อยากแนะนำ คือ ยาหอม ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยมีการบันทึกถึงตำรับยาหอม ไว้มากกว่า 300 ตำรับ 

ปัจจุบันยาหอมจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ  มีทั้งหมด 5 ตำรับ ได้แก่ ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทรจักร์ และยาหอมแก้ลมวิงเวียน สรรพคุณเน้นไปในเรื่องบำรุงหัวใจ บำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ แก้อาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย ตาพร่าจะเป็นลม 

ยาหอมแต่ละชนิด ประกอบด้วยสมุนไพรไม่ต่ำกว่า 50 ตัว ตัวยาหลักส่วนใหญ่จะเป็นเกสรดอกไม้ การรับประทานยาหอมให้ได้สรรพคุณ หรือมีประสิทธิภาพที่ครบถ้วนนั้น ควรชงในน้ำร้อน แล้วรับประทานอุ่น ๆ เพราะนอกจากจะได้สรรพคุณที่รักษาโรคที่เป็นอยู่แล้ว กลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากยาหอมยังช่วยบรรเทาสภาพจิตใจ ลดความตึงเครียดที่สะสมมาในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความรู้สึกและอารมณ์ที่ผ่อนคลาย จึงอาจกล่าวได้ว่า ยาหอม เป็นยาชนิดหนึ่งที่รักษาโรคได้แบบองค์รวม คือ สามารถบำบัดได้ทั้งโรคทางกาย และเยียวยาโรคทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน

แนะนำให้ประชาชนออกกำลังกายด้วยท่าฤาษีดัดตนและการบริหารร่างกายด้วยศาสตร์มณีเวช สามารถช่วยแก้อาการปวดเมื่อยร่างกาย มีผลต่อกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูก ทำให้การเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว มีประสิทธิภาพ ช่วยบริหารระบบลมหายใจ และอีกศาสตร์ที่อยากแนะนำ คือ การฝึกสมาธิบำบัด ซึ่งมีประโยชน์ช่วยให้จิตใจเกิดความสงบ ผ่อนคลาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายและทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรคได้ดี เพื่อผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจ ลดอาการตึงเครียดในสถานการณ์ปัจจุบันได้อีกด้วย

ขอขอบคุณ

ที่มา – ข้อมูล :กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *