ประกันสังคมขานรับนโยบายรองนายกรัฐมนตรี ช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ระดมสรรพกำลังช่วยเหลือผู้ประกันตน และนายจ้าง เต็มที่

FacebookTwitterLine

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศลปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางตรวจเยี่ยม มอบนโยบาย และติดตามผลการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19

นายประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมถึงนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับ การให้ความช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกล่าวขอบคุณ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ที่ร่วมแรงใจ ให้ความช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบฯ อย่างเต็มความสามารถ พร้อมเน้นย้ำ มาตรการยกระดับการป้องกัน เฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ในวงกว้าง มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ว่างงาน โดยเร่งรัดการจ่ายสิทธิประโยชน์ กรณีว่างงานพร้อมเงินชดเชยการขาดรายได้แก่ผู้ประกันตน ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และแรงงาน ต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วนไม่ตกหล่น และทันต่อสถานการณ์อย่างเต็มที่

ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงานและนายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา โดยให้ความช่วยเหลือเรื่องของการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง ผู้ประกันตน ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.63 นายจ้างลดเหลือ 4% ผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 1% และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลือ 86 บาท และครั้งที่ 2 ช่วงเดือน ก.ย.- พ.ย. 2563 ในส่วนของนายจ้าง 2% ผู้ประกันตน 2% และผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดลงเหลือ 96 บาท เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เหตุสุดวิสัย 62% และเลิกจ้าง 70% ลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง 50% จัดให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 รักษาในสถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งรัฐ และเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่าย จัดให้มีโครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยให้สิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ณ สถานพยาบาลที่กำหนด ปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ ยังมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ให้สามารถรักษาการจ้างงาน ให้ผู้ประกันตนมีงานทำต่อเนื่องและอยู่ในระบบประกันสังคม ในโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อให้สถานประกอบการกู้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสภาพคล่องให้มีศักยภาพมีการจ้างงาน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2563 นี้ สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงาน และนายจ้าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 92,243.69 ล้านบาท

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปี 2564 ซึ่งยังคงเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการตามมาตรการ ให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกันตนและนายจ้าง ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน เรื่อง ปรับลด เงินสมทบ ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือในอัตราฝ่ายละร้อยละ3 และผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท ในงวดเดือนม.ค.64 และเมื่อวันที่ 19 ม.ค.64 มติคณะกรรมการประกันสังคม ยังได้เห็นชอบให้มีการปรับลดเงินสมทบในงวดเดือนก.พ. – มี.ค.2564 ฝ่ายนายจ้าง 3% ฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือในอัตรา 0.5% และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 38 บาท ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ให้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน ตาม “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563”เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย 50% เลิกจ้าง 70% ลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง 50 % จัดให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 รักษาพยาบาลทุกแห่ง ทั้งรัฐและเอกชนโดยไม่ต้องสำรองจ่าย เพิ่มสิทธิการตรวจสอบคัดกรองเชิงรุก โดยออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์ กรณีคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด – 19 เชิงรุกในสถานประกอบการสำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และในปี 2564 นี้ สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือ เพื่อแบ่งภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน นายจ้าง ประมาณการรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 62,201 ล้านบาท


นายทศพลฯ กล่าวต่ออีกว่าผลงานที่ปรากฏนั้นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสำนักงานประกันสังคม ที่พร้อมขับเคลื่อนตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้กับแรงงาน ลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเต็มที่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ของนายประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนโยบายรัฐบาล ในการที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
———————————–
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *