“ครูหยุย” รับข้อเสนอเชิงนโยบาย “Cyberbullying” ด้าน สสส.-สสดย. ชงรัฐสร้างระบบป้องกันเด็ก-กำกับดูแลสื่อออนไลน์ไม่เหมาะสม-หนุนงานสื่อสาร-เพิ่มวาระชาติด้านสื่อเพื่อเด็ก

          เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ที่โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) จัดงานเสวนาออนไลน์ “การรับมือกับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย (Cyberbullying)” โดย รศ.จุมพล รอดคำดี ที่ปรึกษา สสดย. และผู้ทรงคุณวุฒิแผนระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอรูปแบบการเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือกับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย พร้อมขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายต่อวุฒิสภา นำไปสู่การสานพลังแนวร่วมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมสร้างนวัตกรรมหรือแนวทางปฏิบัติที่เห็นผล และเกิดประโยชน์สูงสุดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กไทย นำไปสู่การเป็นพลเมืองตื่นรู้ มีสุขภาวะทางปัญญา

        นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส กล่าวว่า การพัฒนาและขยายสื่อดี สำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ และสุขภาวะทางปัญญาของเด็ก คณะกรรมาธิการได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาพส่วนเกี่ยวกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งได้นำเสนอต่อวุฒิสภา และกำลังจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในไม่ช้านี้ ดังนั้น ข้อเสนอเรื่องการรับมือกับการระรานทางออนไลน์ของเด็กไทยในวันนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่คณะกรรมาธิการจะให้ความสำคัญกับปัญหานี้เป็นการเฉพาะ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกว้างขวาง และมีผลกระทบในทุกระดับ จึงจะมีการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และร่วมกับรับมือกับภัยจากการระรานทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง

      ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า การถูกระรานทางออนไลน์ถือเป็นมหันตภัยทางออนไลน์ที่กลับพบเห็นได้ทั่วไป ผู้เป็นเหยื่อมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตจนเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตและสุขภาพตามมา สสส. ร่วมกับ สสดย. จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ดังนี้ 1.ระบบการป้องกันปัญหา สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กก่อนอายุ 13  2.ระบบการช่วยเหลือและเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบ มีมาตรการทางกฎหมาย และแนวทางการทำงานที่จะสามารถช่วยเหลือเหยื่อได้ 3.พัฒนาองค์ความรู้และการสื่อสารในสังคม และ 4.หน่วยงานกลางที่มีความยืดหยุ่นเป็นศูนย์กลางในการดูแลเด็กและเยาวชนอย่างเป็นองค์รวม ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา พัฒนาทักษะการเป็นผู้ใช้และสร้างสรรค์สื่อที่มีความรอบรู้ เท่าทัน ควบคู่ไปกับการร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ

       ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก รองประธานคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน วุฒิสภา และนายกสมาคม สสดย. กล่าวว่า จากการศึกษาการรับมือกับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย ปี 2563 พบว่า เด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาทุกภูมิภาค 3,240 คน ร้อยละ 21.6 เคยถูกระรานทางออนไลน์ในรอบปีทีผ่านมา โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.2 เด็กถูกระรานทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 18 ถูกระรานหลายครั้งต่อสัปดาห์ และร้อยละ 8.6 ถูกระรานทุกวัน โดยช่องทางเฟซบุ๊กมากที่สุดถึง ร้อยละ 53.35 เกมออนไลน์ ร้อยละ 13.12 อินสตาแกรม ร้อยละ 10.13 ทวิตเตอร์ ร้อยละ 9.99 แอปพลิเคชันไลน์ ร้อยละ 8.27 แอปพลิเคชันติ๊กต๊อก ร้อยละ 2.57 ยูทูบ ร้อยละ 1.43 และทางสื่อออนไลน์อื่น ๆ ร้อยละ 1.14 ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกระราน ร้อยละ 44.79 รู้สึกวิตกกังวล ร้อยละ 37.38 รู้สึกเจ็บปวดและเศร้า ร้อยละ 23.11 อยากแก้แค้น ร้ายแรงสุด คือ ร้อยละ 17.26 อยากฆ่าตัวตาย

       “เมื่อศึกษาถึงพฤติกรรมการระรานทางออนไลน์ผู้อื่น พบว่า มีเด็กร้อยละ 14.1 เคยระรานทางออนไลน์ผู้อื่น ซึ่งร้อยละ 76.0 ระรานทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 17.2 หลายครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 7.0 ระรานทุกวัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.73 กล่าวว่ารู้สึกผิด ที่น่าตกใจ คือ ร้อยละ 33.55 หรือ 1 ใน 3 รู้สึกสะใจ ร้อยละ 32.03 รู้สึกเท่ และชัดเจนว่าร้อยละ 35.81 ของนักเรียนที่เคยถูกระรานมีพฤติกรรมไประรานผู้อื่น เมื่อถามนักเรียนว่ารับรู้ถึงการที่ผู้อื่นระรานทางออนไลน์หรือไม่ มีถึงร้อยละ 53.7 ตอบว่ารับรู้ และร้อยละ 67.3 หรือ 2 ใน 3 เคยเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกระราน ดังนั้น การทำให้บุคคลสามฝ่าย คือ ผู้ระราน ผู้ถูกระราน และผู้รับรู้การระราน ได้ตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละฝ่าย โดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ จะช่วยให้สามารถบรรเทาสถานการณ์ปัญหา และหาทางออก เพื่อให้ทุกฝ่ายในโลกออนไลน์อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น” ดร.ธีรารัตน์ กล่าว

สำหรับภายในงานมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยได้รับเกียรติจาก ครูลิลลี่ ครูสอนภาษาไทยขวัญใจวัยรุ่น และพี่อ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ที่ปรึกษาด้านความรัก จากรายการคลับฟรายเดย์ เข้าร่วมเพื่อระดมความคิดเห็นในการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชน

————————

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *