ตรวจพบ “เจลแอลกอฮอล์ปลอม” เกิน 40% ใช้ผิดถึงขั้นตาบอด

กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องพกติดตัวตลอดเวลา สำหรับแอลกอฮอล์และแอลกอฮอล์เจลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

เพราะการใช้ชีวิตในยุคที่เรียกว่า New Normal ที่กำลังก้าวสู่ Next Normal คำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข คือ ต้องการ์ดไม่ตก ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ

นั่นทำให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ทั้งชนิดน้ำและเจล กลายมาเป็นสิ่งที่ผู้คนจำเป็นต้องมีติดตัว หรือพกพาไปในที่ต่างๆ ตลอดเวลา

แต่ล่าสุด อะไรที่เป็นสินค้าขายดี คนใช้เยอะ มักหนีไม่พ้นเหล่ามิจฉาชีพ ที่หาประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่าปีงบประมาณ พ.ศ.2563 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือทั้งชนิดเจลและของเหลวจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสถานีตำรวจ เพื่อทดสอบชนิดและปริมาณแอลกอฮอล์และทดสอบปริมาณเมทานอล และทดสอบประ-สิทธิภาพการลดเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งหมด 205 ตัวอย่าง พบว่าเข้ามาตรฐานเพียง 120 ตัวอย่าง หรือประมาณ 58.5% คือ มีชนิดและปริมาณแอลกอฮอล์ตามที่กำหนดและมีประสิทธิภาพการลดเชื้อ และไม่เข้ามาตรฐาน 85 ตัวอย่าง หรือประมาณ 41.5%

“เจลแอลกอฮอล์ที่ไม่เข้ามาตรฐานมีตั้งแต่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 71 ตัวอย่าง พบเมทานอลและปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์ต่ำกว่าเกณฑ์ 2 ตัวอย่าง ไม่พบแอลกอฮอล์ที่อนุญาตแต่พบเมทานอล 5 ตัวอย่าง และพบว่าไม่มีประสิทธิภาพในการลดเชื้อแบคทีเรีย 7 ตัวอย่าง” รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอก

คุณหมอบัลลังก์ บอกว่า หลังจากได้ข้อมูลดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการตรวจสอบเจลแอลกอฮอล์ต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2564 เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 28 ธันวาคม 2563 โดยได้รับตัวอย่างจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสถานีตำรวจ เพื่อทดสอบชนิดและปริมาณแอลกอฮอล์และทดสอบปริมาณเมทานอล รวมทั้งหมด 6 ตัวอย่าง พบว่าไม่เข้ามาตรฐานถึง 3 ตัวอย่าง

“แม้จะดูเหมือนว่า เป็นเรื่องเล็กแต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลย ในกรณีของเจลแอลกอฮอล์ปลอม ที่มีเมทานอลมีพิษต่อร่างกายรุนแรงมาก สามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ หากสัมผัสในปริมาณมากอาจทำให้ถึงขั้นตาบอดได้” คุณหมอบัลลังก์ ย้ำ

อะไรคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็น “เจลแอลกอฮอล์ล้างมือปลอม”

รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า เจลแอลกอฮอล์ล้างมือปลอม คือ เจลแอลกอฮอล์ที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือแหล่งผลิต หรือจดแจ้งที่ไม่ใช่ความจริง หรือมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 20% ตามที่จดแจ้งหรือตามที่ระบุไว้ในฉลาก หรือพบเมทานอลเกิน 5% ของเอทิลแอลกอฮอล์และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หรือไม่พบแอลกอฮอล์ที่อนุญาตให้เป็นส่วนผสม

“เจลแอลกอฮอล์ล้างมือปลอมที่พบส่วนใหญ่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 56% และพบเมทานอลเกินเกณฑ์กำหนด เมื่อเมทานอลเข้าสู่ร่างกายโดยการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ จะมีอันตรายทำให้หลอดลม ลำคอ และเยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจหรือสัมผัสในปริมาณมากอาจทำให้ปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก การมองเห็นผิดปกติและอาจถึงขั้นตาบอดได้” คุณหมอบัลลังก์ ให้รายละเอียด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะภายนอก สี หรือกลิ่นของเมทานอลกับแอลกอฮอล์ที่อนุญาตให้ใช้ได้ไม่มีความแตกต่างกัน จึงทำให้บางครั้ง ผู้บริโภคไม่สามารถแยกเจลแอลกอฮอล์ของแท้และของปลอมออกจากกันได้ หากต้องการทราบชนิดของแอลกอฮอล์ต้องทดสอบทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาการตรวจหาเมทานอลให้เร็วขึ้น โดยพัฒนาเป็นชุดทดสอบเมทานอลหรือ DMScMtTek Test Kit ซึ่งมีวิธีใช้ง่ายและทราบผลภายใน 2 นาที หากพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ตรวจด้วยชุดทดสอบให้ผลบวก คือ พบเมทานอล จะต้องส่งตรวจยืนยันที่ห้องปฏิบัติการ

“อยากฝากถึงผู้ประกอบการและผู้ผลิตทุกท่าน ขณะนี้ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าเราอยู่ในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 การผลิตสินค้าโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและผู้ผลิตควรให้ความสำคัญ ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภค และผลิตสินค้าให้อยู่ภายใต้กฎหมายควบคุม ผลิตให้มีปริมาณแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป”

นพ.บัลลังก์ บอกพร้อมกับแนะนำว่า การเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ปลอดภัยควรพิจารณาจากชื่อทางการค้า ส่วนประกอบสำคัญ ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ และเลขจดแจ้ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ถ้าไม่มั่นใจให้นำเลขจดแจ้งไปค้นหาในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะทราบทันทีว่าเจลแอลกอฮอล์ล้างมือนั้น จดแจ้งถูกต้องหรือไม่ ขอย้ำว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค หากพบผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริโภคสามารถแจ้งไปทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้.

ที่มา – ขอขอบคุณ thairath.co.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *