กรมอนามัย จับมือภาคีเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับเด็ก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายประชุมเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับเด็ก เพื่อกำหนดทิศทาง และพิจารณากรอบ พ.ร.บ.การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับเด็ก


นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในเด็กของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยจากระบบเฝ้าระวังกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 เด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ร้อยละ 12.8 ซึ่งยังสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมาย (ร้อยละ 10) ส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยงที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนและเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ (NCDs) จากข้อเสนอแนะ The United Nations Interagency Task Force (UNIATF) ว่าด้วยเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ข้อ 4.4 เรื่อง ห้ามทำการส่งเสริมการตลาดในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กที่ไม่มีคุณค่าทางอาหารเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลในการป้องกันและควบคุม NCDs แต่อย่างไรก็ตามเกือบร้อยละ 90 ของเด็กไทยเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อทางการตลาดจากการเห็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง รวมถึงถูกชักจูงด้วยวิธีการตลาดที่หลากหลายรูปแบบ


“ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายบางส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ยังมีช่องว่างหลายประเด็นที่จะคุ้มครองเด็กจากการตลาดอาหารที่ไม่เหมาะสม จากปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่าง พ.ร.บ. การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับเด็กขึ้น

โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอนามัยกับภาคีเครือข่าย อาทิ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาพันธ์เครือข่าย NCDs แห่งประเทศไทย เพื่อทบทวนการศึกษาวิจัย ข้อกำหนด กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับเด็ก และจัดทำร่าง พระราชบัญญัติการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับเด็ก เพื่อปกป้องเด็กจากกลยุทธ์ทางการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพเด็ก” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 27 มกราคม 2564

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *