อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ช่วย SMEs ไทยสู้วิกฤติโควิด-19 สนับสนุนทุนยกระดับสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น

อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค นำงานวิจัยสู้วิกฤติโควิด-19 หวังช่วยยกระดับและพัฒนา SMEs และวิสาหกิจชุมชน เดินหน้าสนับสนุนทุนการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ผ่านโครงการ RD Facilities Boost up และบริการต่างๆ ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อหวังยกระดับผู้ประกอบการสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้านวัตกรรม และเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและนวัตกรรม

นางสาวทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์  เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ด้วยเหตุนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค หรือนิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จึงได้มุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน รวมถึงนักวิจัยที่ต้องการนำงานวิจัยมาต่อยอดทางธุรกิจ ด้วยการสนับสนุนทุนการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์สูงสุด 80% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด  หรือไม่เกินวงเงิน 1 แสนบาท ภายใต้โครงการยกระดับการวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการ ด้วยเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ RD Facilities Boost up ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้านวัตกรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม นอกจากโครงการ RD Facilities Boost up แล้ว อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคยังมีบริการต่างๆ ที่ช่วยผู้ประกอบการ เช่น การบ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ การวิเคราะห์ทดสอบและรับรองมาตรฐาน การพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชน การวิจัยร่วมกับภาคเอกชน การบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ยังมีบริการพื้นที่สำหรับทำวิจัย พื้นที่สำหรับจัดตั้งธุรกิจ และพื้นที่ส่งเสริมการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม (co-working space)

“อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการจับคู่ระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสในการอยู่รอดและเร่งการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด เป็นระบบนิเวศที่เอื้อ ต่อการทำงานวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เปรียบเสมือน Sandbox ในการบ่มเพาะธุรกิจของธุรกิจ SMEs ผ่าน 16 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ด้วยการนำงานวิจัยมาต่อยอดเพื่อให้เกิดนวัตกรรมและสามารถ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผู้ที่เข้าร่วมใช้บริการมากกว่าหมื่นราย มีการสร้างผู้ประกอบการใหม่แล้วมากกว่า  500 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วมากกว่าหนึ่งพันล้านบาท สำหรับผู้ที่สนใจอยากได้คำปรึกษา คำแนะนำ หรือความช่วยเหลือด้านต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/spamost/ หรือ โทร 02-333-3942”

คุณพัชรินทร จำรัส ห้างหุ้นส่วนจำกัดปลาส้มไร้ก้างแม่ทองปอน เปิดเผยว่า ช่วงแรกของการผลิต เกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มสตรีสหกรณ์ผู้ผลิตปลาส้มบ้านสันเวียงใหม่ โดยผลิตปลาส้มในรูปแบบของการสืบทอดภูมิปัญญาแบบรุ่นสู่รุ่น ต่อมาได้รับความนิยมอย่างมากจนเป็นที่ต้องการของตลาดทำให้ต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น จึงมีความต้องการที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต ด้วยเหตุนี้จึงได้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กับอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และขยายธุรกิจควบคู่กับการขยายตลาดในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัดปลาส้มไร้ก้างแม่ทองปอน จนปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและช่วยยกระดับธุรกิจชุมชน

ทั้งนี้อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ให้การช่วยเหลือในการพัฒนาศักยภาพทางด้านธุรกิจ และให้คำปรึกษาเรื่องของการพัฒนาธุรกิจ ทั้งทางด้านกฎหมาย การตลาด การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างแบรนด์ การวางแผนธุรกิจของสถานประกอบการ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของกิจการเพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มรายได้ ส่งผลให้เกิดการสร้างงานเพิ่มขึ้นจากการขยายการผลิต สร้างอาชีพในชุมชน รวมถึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งวัตถุดิบในการผลิตต่างๆ เช่น ปลา ข้าว กระเทียม เป็นต้น ส่งผลให้มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 4.2 ล้านบาทและต่างประเทศ 1 แสนบาท ต่อปี

ด้านนายอนุสรณ์ ขวัญคงบุญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคโค่ อะกรีคัลเจอร์ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของบริษัทเกิดจากความคิดที่ต้องการนำขุยมะพร้าว ซึ่งเป็นทรัพยากรเหลือทิ้งที่มีอยู่ในท้องถิ่นในประเทศ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม  โดยคิดค้นวิจัยในการพัฒนาเป็นสินค้าใหม่โดยใช้ความรู้และการสนับสนุนในด้านต่างๆ ของ อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ  ศูนย์ความร่วมมืออุตสาหกรรม  ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา และบุคลากรของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันคิดค้นวิจัย จนได้มาซึ่งวัสดุปลูกและวัสดุเพาะกล้า “โคโค่ พีท พลัส” ที่มีศักยภาพ และคุณภาพเทียบเท่าพีทมอส ที่สามารถขายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย

 ————–

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *