วันที่ 28 มกราคม 2564 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เผยว่า ได้ประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี และนครปฐม ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ด้วยการประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ร้อยตรี พงศธร ศิริสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี และนายปรีชา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี
โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ในฐานะเลขานุการคณะทำงานขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันฯ และคณะผู้บริหาร ทส. เข้าร่วม เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 ณ ห้องประชุมชั้น 17 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยการดำเนินงานขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่ 3 จังหวัดที่ได้รับมอบหมาย ได้เน้นการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชนใน 2 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ และผู้ว่างงาน และการแก้ไขปัญหาโครงสร้างการพัฒนาจังหวัดในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำ ด้านที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติ และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน
ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงาน ในส่วนของการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ได้มีการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยการพิจารณาการสนับสนุนสินเชื่อผ่านสถานบันการเงินในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดนครปฐม ไปแล้วกว่า 164,604 ราย รวม 12,841.12 ล้านบาท รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านการขายผลิตภัณฑ์ และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยว สำหรับกลุ่มผู้ว่างงาน ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานจัดทำแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาในแต่ละกลุ่ม โดยมีการจ้างงานในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดนครปฐมไปแล้วกว่า 683 อัตรา พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านแรงงาน อาทิ จัดโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ การช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง และสถานประกอบการในการรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย
สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือโครงสร้างการพัฒนาจังหวัดด้านต่าง ๆ พบว่ามีความก้าวหน้าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านทรัพยากรน้ำ ที่ได้มีการค้นพบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ 2 แหล่ง ที่ อำเภอเลาขวัญ และ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะมีการเร่งทดลองพัฒนาขึ้นมาให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ พร้อมติดตามระดับน้ำบาดาลอย่างเคร่งครัดต่อไปว่าจะมีปริมาณน้ำบาดาลเพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการเร่งรัดการบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยสำรวจพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง และตำแหน่งที่เหมาะสมกับการขุดเจาะน้ำบาดาล รวมถึงพิจารณาดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อเป็นแหล่งน้ำเสริมให้แก่ผู้ประกอบการด้านการเกษตร ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน และในระยะยาว ได้ดำเนินการฟื้นฟูป่าต้นน้ำภายใต้โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อยู่เหนือเขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเติมน้ำให้เขื่อน เร่งรัดการจัดทำอ่างพวงเก็บน้ำและระบบกระจายน้ำในลักษณะบ่อพลวง เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูแล้ง และเป็นแก้มลิงในฤดูน้ำหลาก รวมทั้งเพื่อเตรียมการรองรับน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ รวมถึงการสำรวจแผนที่เส้นทางน้ำ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำในแต่ละลุ่มน้ำย่อย
ด้านที่ดินทำกิน และด้านทรัพยากรธรรมชาติ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน ภายใต้กลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และแก้ไขปัญหาการทับซ้อนแนวเขตที่ดิน รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกเขตป่า โดยวางแผนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในเขตป่าอนุรักษ์ และดำเนินการปลูกพืชอาหารสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อเป็นแหล่งอาหารของช้างป่า
ด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการเน้นย้ำถึงการเร่งแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย โดยให้ร่วมมือกับทางจังหวัดพิจารณาแนวทางการกำหนดกลุ่มพื้นที่ (Cluster) ในการรวบรวมและกำจัดขยะมูลฝอยอื่น ๆ ให้ครอบคลุมปริมาณขยะในพื้นที่ รวมถึงรณรงค์การลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่แหล่งกำเนิด โดยสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน ให้ ลด และคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน สำหรับปัญหาน้ำเสีย ให้ติดตามตรวจวัดน้ำเสีย ที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต คลองสำคัญของจังหวัด รวมถึงจัดระเบียบและกำหนดมาตรฐานแพบริการท่องเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนปัญหาจากไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ให้จัดทำแผนบูรณาการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด และขอให้หน่วยงานในระดับพื้นที่กวดขันและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ลักลอบเผาป่าหรือเผาต้นไม้ริมทางหรือก่อให้เกิดไฟป่า ทั้งนี้ ให้ติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
นายวราวุธ ยังได้กล่าวแสดงความห่วงใยต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในแต่ละจังหวัด โดยได้ขอบคุณทุกจังหวัดที่ได้มีการปฏิบัติการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับขอให้มีการตรวจตราการเผาไร่อ้อย และการปล่อยมลพิษทางอากาศของโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ต่อไปอย่างเข้มงวด เพื่อช่วยกันควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศไม่ให้เกินค่ามาตรฐานในช่วงฤดูนี้
——————–