“เครือดอกเบี้ย” ประกาศมอบรางวัลเกียรติยศ Bank of the Year 2020 สถาบันการเงินแห่งปี 2563 แก่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือ Thai Credit Guarantee Corporation (TCG) หลังจากพิสูจน์ผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดตลอดปี 2563 “บสย.” ซึ่งหมายถึงคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ได้ทุ่มเททำงานอย่างหนัก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019
ผลงานที่โดดเด่นในปี 2563 ได้แก่ ผลการดำเนินงานด้านยอดค้ำประกันสินเชื่อ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) 100,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 28 ปี และปิดยอดค้ำประกันสินเชื่อทั้งปี 2563 วงเงิน 141,888.89 ล้านบาท (เฉลี่ย 0.85 ล้านบาท/ราย) ช่วยผู้ประกอบการ SMEs 166,419 ราย โดยยอดค้ำประกันเพิ่มขึ้น 57% เทียบกับปี 2562 สูงกว่าเป้าหมาย 41.2% จากเป้าที่วางไว้ 100,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อใหม่ในระบบกว่า 162,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บสย.ยังโดดเด่นในด้านการบริหารจัดการภายใน ซึ่งมาจากการปรับกระบวนการทำงานภายใน บสย. ส่งผลทำให้เกิดความรวดเร็วในกระบวนการในการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ จากเฉลี่ยวันละ 500 ฉบับ เป็นวันละ 2,000 ฉบับ การออกมาตรการเร่งด่วน ได้แก่ มาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันนานสูงสุด 12 เดือน มาตรการขยายเวลาการค้ำประกันในโครงการ PGS5 – PGS7 นานสูงสุด 5 ปี และโครงการประกันสินเชื่อ “บสย.SMEs สร้างไทย” โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี วงเงินค้ำประกันสูงสุด 30 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี โดยยังได้พัฒนาเครื่องมือ Financial Health Check ซึ่งเป็น Credit Scoring ให้ SMEs สามารถตรวจสอบสุขภาพทางการเงินได้ด้วยตัวเอง และการยกระดับ “คลินิกหมอหนี้” จัดตั้งเป็น ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F. A. Center) เพื่อการยกระดับการให้บริการผู้ประกอบการ SMEs “จากนายประกันสู่ที่ปรึกษาทางการเงิน”
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวถึงรางวัลเกียรติยศนี้ว่า “ในปี 2563 บสย.ผนึกกำลัง ร่วมแรงกันออกแบบผลิตภัณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SMEs ธุรกิจรายย่อย รวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระ เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้ครอบคลุม เราปรับกระบวนการทำงาน เร่งหารือ ทำความเข้าใจกับพันธมิตร ระหว่างนั้น มีการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของเพื่อนพนักงานอย่างไม่หยุดตลอดปี ทุกคนทุกระดับเข้ารับการอบรมเพื่อก้าวให้ทันโลก นำหน้าการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นเพื่อนคู่คิดของ SMEs ในภาวะวิกฤตอย่างแท้จริง วันนี้ เรารู้สึกขอบคุณและภาคภูมิใจที่มีคนเห็นความตั้งใจทุ่มเทของพวกเราที่จะเป็นเครื่องจักรหลักในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศ”
การมอบรางวัลเกียรติยศในปีนี้ แม้ บสย.จะไม่ได้เป็นธนาคารตามชื่อรางวัล โดยเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่ก็ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ที่มีบทบาทในฐานะผู้เติมเต็มช่องว่างทางการเงิน ลดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ที่มีหลักประกันไม่พอ นับเป็นการเกื้อหนุนภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจไม่แพ้ธนาคาร จึงได้ขยายนิยาม Bank หรือธนาคาร ให้ครอบคลุมถึง บสย. ด้วย สอดคล้องกับที่ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป ได้บอกถึงภารกิจของ บสย. เหมือนเป็น “นายธนาคารข้างถนน” ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก
—————–