วันที่ 28 มกราคม 2564 จากกรณีที่ ช้างป่า “พลายยันหว่าง” ล้ม บนรถขณะขนย้ายจาก จ.ชลบุรี มาที่เขาตะกรุบ จ.สระแก้ว ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เพื่อตรวจพิสูจน์หาสาเหตุอย่างละเอียด
เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 2 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายอนุชา กระจายศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) พร้อมด้วย นายอำนาจ ม่วงปรางค์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.2 และ นายพิทักษ์ ยิ่งยง หัวหน้าฝ่ายวิชาการคุ้มครองสัตว์ป่า และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ นายวีระพงศ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน นางสาวณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ สบอ.2 นายปุญญพัฒน์ สารเชวีระกุล สัตวแพทย์ ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง พร้อมด้วยเจ้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และทีมสัตวแพทย์ ได้ร่วมกันแถลงข่าว กรณีที่พลายยันหว่าง หรือช้างป่าประจำถิ่น อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี เสียชีวิตระหว่างเคลื่อนย้ายไปดูแลรักษา ในโครงการจัดการช้างป้าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หมู่ที่ 26 บ้านคีรีเขต ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
นายอนุชา กระจายศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กล่าวว่า “พลายยันหว่าง” เป็นช้างเพศผู้ เป็นช้างประจำถิ่นที่หากินอยู่ในพื้นที่อำเภอบ่อทอง และอำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นที่รู้จักและคุ้นชินของเจ้าหน้าที่ และคนในพื้นที่ชาวบ้านต่างพากันขนานนามว่า “ช้างป่าใจดี” แต่พฤติกรรมการหากินได้สร้างผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร และก่อเหตุความวุ่นวายมากขึ้นรบกวนชาวบ้านมากขึ้น ทั้งนี้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาดังกล่าว สำหรับช้างป่าพลายยันหว่าง โดยก่อนนี้ ได้มีการจับช้างป่าพลายยันหว่าง
ใส่ปลอกคอ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหว แต่ใส่ได้ไม่นานนักปลอกคอช้างป่าพลายยันหว่างก็หลุดออก ต่อมาจึงได้มีการขออนุญาตมายังกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อขออนุญาตเคลื่อนย้ายพลายยันหว่าง ไปพื้นที่ศูนย์บริหารจัดการช้างป่าเขาตะกรุบ จังหวัดสระแก้ว
โดยเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา นายพิทักษ์ ยิ่งยง และนายมั่นคง ศิริโชติ หัวหน้าฐานปฏิบัติการป้องกันรักษา ที่ชบ.1 (คลองกุ่ม) หัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์นอกพื้นที่ เข้าประชุมชี้แจงเพื่อวางแผนการดำเนินการจับและย้ายพลายยันหว่าง กับทางอำเภอหนองใหญ่ และหน่วยงานในพื้นที่อำเภอหนองใหญ่
ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2564 คณะเจ้าหน้าที่ฯ ได้ประชุมวางแผนและแบ่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน โดยมีนายพิทักษ์ ยิ่งยง เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน โดยแบ่งการทำงาน ได้แก่ ทีมค้นหา ทีมไม้ค้ำ ทีมยิงยา ทีมงานเชือก ทีมสัตวแพทย์ และทีมขนย้าย จากนั้นคณะเจ้าหน้าที่เริ่มปฏิบัติการลงพื้นที่ค้นหาช้างป่าพลายยันหว่าง พื้นที่หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 บ้านมาบยาง ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี แต่ยังไม่สามารถ ยิงยาซึมได้ เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม กระทั่งเวลา 23.07 น. ทีมยิงยาดำเนินการยิงยาซึมช้างป่าพลายยันหว่าง
วันที่ 24 ม.ค.64 เวลา 02.18 น. คณะเจ้าหน้าที่ได้นำพลายยันหว่าง ออกเดินทางจากพื้นที่ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เพื่อไปยังพื้นที่โครงการจัดการช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หมู่ที่ 26 บ้านคีรีเขต ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว โดยมีทีมสัตวแพทย์ จำนวน 3 คน และเจ้าหน้าที่อีก 5 คน ค่อยดูแลอยู่ท้ายรถบรรทุกตลอดทาง ซึ่งก่อนที่จะเดินไปยังเป้าหมายดังกล่าว ทางเราก็ได้มีการนำช้างป่าพลายยันหว่าง ไปชั่งน้ำหนัก ซึ่งมีขนาด 2.4 ตัน โดยการชั่งน้ำหนักในครั้งนี้ ก็เพื่อนำมาวัดกับปริมาณยาซึมที่ใช้ฉีดระหว่างทาง ไม่ให้เกินขนาด 24 ซีซี
เวลา 06.00 น. ช้างป่าพลายยันหว่าง มีอาการทรุดตัวลงขณะอยู่บนรถขนย้าย ระยะทาง 5 กิโลเมตร ก่อนถึงพื้นที่โครงการจัดการช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 06.15 น. รถขนย้ายช้างป่าพลายยันหว่าง ถึงพื้นที่โครงการจัดการช้างป่าฯ พบว่าช้างป่าพลายยันหว่างมีอาการทรุดหนัก โดยทีมสัตวแพทย์ สัตวบาลและเจ้าหน้าที่ ร่วมกันช่วยชีวิตแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ช้างป่าพลายยันหว่างได้ล้มลง
จากนั้นเวลา 12.35 น. คณะสัตวแพทย์และสัตวบาลได้ทำการผ่าตัดชันสูตร ผลการชันสูตรพบก้อนอาหารจากกระเพาะอาหารอุดอยู่ภายในหลอดลม พบก้อนอาหารอยู่เต็มกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ตับและไต มีลักษณะบวม (ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อดูระดับเซลล์ และตรวจโรค) ลำไส้เล็กแดงกว่าปกติ (ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อดูระดับเซลล์ และตรวจโรค) ม้ามมีลักษณะซีด (ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อดูระดับเซลล์ และตรวจโรค)
น.ส.ณัฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฎิบัติการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กล่าวต่อว่า ทีมสัตวแพทย์ สันนิษฐานสาเหตุการตายชองช้างป่าพลายยันหว่าง เกิดจากสภาวะมีก้อนอาหารที่เกิดจากการขย้อนจากกระเพาะอาหาร เข้าสู่หลอดลมอย่างกะทันหัน ทำให้สัตว์เกิดสภาวะหายใจไม่สะดวก และขาดอากาศหายใจดังกล่าว ส่วนประเด็นที่ว่ามีการใช้ยาซึมเกินขนานนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะทางทีมสัตว์แพทย์จะต้องใช้ไม่เกินขนาดน้ำหนักตัวของช้าง ซึ่งการใช้และการขนย้ายนั้นทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้วจึงจะกระทำได้ อย่างไรก็ตามทุกคนก็รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกงานทุกคนได้พยายามช่วยชีวิต พลายยันหว่างสุดความสามารถแล้ว ซึ่งในตอนนี้ก็ต้องรอผลชันสูตรอีกจากหลายหน่วยงานที่ได้ส่งชิ้นเนื้อไปตรวจพิสูจน์ว่าเกิดจากสาเหตุการล้ม ของพลายยันหว่างต่อไป