กรมควบคุมโรค แนะสถานศึกษาดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด 19 อย่างเข้มข้น ในการเปิดเรียน 1 ก.พ. นี้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะสถานศึกษาดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 อย่างเข้มข้น หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้สถานศึกษาเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ โดยเน้นตรวจคัดกรองทุกเช้า สวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน และจัดให้มีจุดล้างมืออย่างเพียงพอ


วันนี้ (29 มกราคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 27 มกราคม 2564 เรื่อง การเปิดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้มีการเปิดการเรียนการสอนตามปกติในวันจันทร์ ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ยกเว้นในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่ยังคงเรียนแบบออนไลน์อยู่ กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำสถานศึกษา ให้ปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ทั้งนักเรียน บุคลากรในสถานศึกษา รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนด้วย
สำหรับการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเมื่อเปิดเรียน ควรได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ปกครอง และการปฏิบัติตนของนักเรียนและบุคลากรในสถานศึกษา รวมถึงการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน เช่น จุดคัดกรอง ห้องเรียน ห้องประชุม โรงอาหาร ศูนย์พยาบาล ห้องแยก รถรับ-ส่งนักเรียน หอพักนักเรียนหรือครู เพื่อให้สถานศึกษาปลอดภัยจากโรคโควิด 19 และดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ โรงเรียนควรมีการทำ QR Code เพื่อใช้สแกนสำหรับผู้ปกครองในการมารับ-ส่งนักเรียน หรือบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อเรื่องต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการใช้ติดตามตัวได้อย่างทันการณ์

ทั้งนี้ ขอให้สถานศึกษาเน้นมาตรการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และลดการแพร่เชื้อโรคดังกล่าวอย่างเข้มข้น ดังนี้

1.จัดให้มีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิ วัดไข้ และอาการป่วย บริเวณทางเข้าสถานศึกษาทุกเช้า เพื่อแยกผู้ที่มีอาการป่วยไปยังสถานที่ที่จัดเตรียมไว้

2.ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองนักเรียนในเรื่องการดูแลนักเรียนทั้งที่บ้านและที่สถานศึกษา

3.สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 100% เมื่ออยู่ในสถานศึกษา

4.จัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร และไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน เพื่อลดความแออัด

5.จัดให้มีจุดในการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ เช่น ภายในห้องเรียน โรงอาหาร โรงยิม เป็นต้น

6.มีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องดนตรี ปุ่มกดลิฟต์ อุปกรณ์กีฬา ของเล่นเด็ก ด้วยน้ำหรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70%

7.จัดเตรียมห้องพยาบาลสำหรับแยกนักเรียนที่มีอาการทางเดินหายใจ ออกจากนักเรียนที่มีอาการป่วยอื่นๆ และ

8.กรณีสถานศึกษาที่มีรถรับ-ส่ง ให้ทำความสะอาดยานพาหนะบริเวณที่สัมผัสกับผู้โดยสาร เช่น ราวจับ กลอนประตู เบาะนั่ง ที่เท้าแขน เป็นต้น

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ปกครองที่ไปส่งบุตรหลานไปโรงเรียน ควรดูแลตัวเองโดยการ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ สแกนไทยชนะก่อนเข้า-ออกสถานที่สาธารณะทุกครั้ง เพื่อให้มีข้อมูลในการประสานงานได้ง่ายขึ้น และเมื่อกลับถึงบ้านต้องทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อเข้ามาติดต่อสู่คนในครอบครัว นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อใช้ในการติดตามไทม์ไลน์ ช่วยให้การสอบสวนควบคุมโรคและติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *