นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กรณีชาวบ้านกว่า 50 คน ร้องเรียนความเดือดร้อนจากกิจการโรงงานน้ำตาล บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ก่อมลพิษเสียงดัง ควันดำและฝุ่นจากกากอ้อย ทั้งกลางวันและ กลางคืน ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรี ทส. ได้รับทราบและมีข้อสั่งการกรณีที่ชาวบ้านเขาได้รับความเดือดร้อนขอให้เร่งรัดเข้าไปช่วยเหลือโดยด่วน หากยังไม่สามารถเข้าช่วยเหลือก็ให้โทรประสานชาวบ้านว่าเรารับทราบเรื่องแล้ว และจะเร่งเข้าไปช่วยเหลือในโอกาสแรกที่กระทำได้ ให้พึงระลึกเสมอว่าทุกข์ของชาวบ้านคืองานของเรา ใส่ใจติดตามโดยใกล้ชิด กรณีที่ราษฎรเดือดร้อนหรือเกิดความเสียหายมากให้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง
นายอรรถพล กล่าวว่า หลังการรับเรื่อง หน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม คพ.โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11(สสภ.11/นครราชสีมา) ได้ลงพื้นที่ประสานชาวบ้าน ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และล่าสุด วันที่ 2 ก.พ. 2564 ได้ร่วมการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (นายชรินทร์ ทองสุข) เป็นประธาน ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทน กอ.รมน. อำเภอพิมาย สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา สนง.สาธารณสุขอำเภอพิมาย ผู้แทนบริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด อบต.หนองระเวียง ตำรวจภูธรอำเภอพิมาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และสื่อมวลชน รวม 50 คน ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้
1) ให้ สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา รายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดในรายงาน EIA เรียนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
2) ให้ สสอ.พิมาย ตรวจคัดกรองสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และประสานรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่มาให้บริการตรวจสุขภาพของประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยง โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด
3) สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา จะออกคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขการจัดเก็บและขนส่งกากอ้อย รวมทั้ง กรมโรงงานให้ตรวจวัดคุณภาพอากาศหลังปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ
4) คพ.จะตรวจสอบคุณภาพอากาศ ในวันที่ 3 ก.พ. 2564 เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และรายงานผลการตรวจสอบให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมาทราบ
5) ให้โรงงานทำแผนแก้ไขปัญหาและแผนCSR ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ก.พ.2564
หน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม คพ.โดย สสภ. 11 ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่จะต้องติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ดูแนวทางการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มจุดตรวจวัดทั้งอากาศ เสียง และกลิ่น ตามแนบท้ายEIA แนวทางการทำBuffer ที่ไม่กระทบชุมชน และแนวทางการเทกองกากชานอ้อย ให้คำปรึกษาการทำแผน CSR และการช่วยเหลือเยี่ยวยาผู้ได้รับผลกระทบ เป็นต้น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ได้รับผลกระทบ นายอรรถพล กล่าว