ส่งออกเฮ ! จุรินทร์ นำกรอ.พาณิชย์ เคาะเรือ 400 เมตรเทียบท่ารับของได้ แก้ขาดคอนเทนเนอร์ พร้อมเชื่อปี64 ตัวเลขส่งออกขยายแตะ 4%

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและะเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า มีเรื่องสำคัญ 3 ประเด็นที่มีการหารือร่วมกันในที่ประชุม ประเด็นที่หนึ่ง สถานการณ์ในเมียนมา ถึงขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อภาคการค้าและภาคธุรกิจ ยังสามารถดำเนินการทางธุรกรรมได้ตามปกติ การค้าขายระหว่างกันยังสามารถดำเนินการได้ เมียนมาถือว่าเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในเรื่องการค้าชายแดนถือว่าไม่ได้รับผลกระทบด่านสำคัญ 3 ด่านที่เป็นด่านถาวรในการส่งออกสินค้าของไทยทั้งด่านแม่สาย แม่สอด หรือระนอง สามารถส่งออกสินค้าได้ตามปกติโดยเฉพาะด่านที่กาญจนบุรี สังขละบุรีที่ปิดไปคาดว่าจะสามารถเปิดด่านได้ในเร็ววัน กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์ในเมียนมาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานกลับมาทุกวันและจะอัพเดทสถานการณ์ในเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนการทำธุรกิจให้ทราบผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ทุกวัน

ประเด็นที่สอง ประเมินสถานการณ์ส่งออกในปี 2564 ได้หารือร่วมกันกับภาคเอกได้ประเมินปี 2564 คาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-4 โดยประมาณส่กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าโอกาสที่จะถึงร้อยละ 4 มีความเป็นไปได้สูง

ประเด็นที่สาม การแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก มีรายละเอียดในหลายประเด็น เช่นการส่งออกรถยนต์ไปยังเวียดนามที่ผ่านมาติดขัดในเรื่องกฎระเบียบในการนำตัวอย่างรถยนต์ไปตรวจสอบแทบทุกล็อต ต่อไปนี้มีมาตรการที่เป็นข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เรียกว่า MRA ได้มีการลงนามข้อตกลงร่วมกันครบถ้วนทั้ง 10 ประเทศแล้วเหลือขั้นตอนที่จะให้สัตยาบันของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยจะเร่งนำนำเข้าให้สัตยาบันผ่านสภาให้เร็วที่สุดคาดว่าจะทันในสมัยประชุมนี้ ส่งผลต่อการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามได้ง่ายขึ้น และปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นอุปสรรคการส่งรถยนต์ คือการลำเลียงรถที่ผลิตจากโรงงานไปยังท่าเรือเพื่อการส่งออกซึ่งทุกคันจะไม่มีทะเบียนเพราะเป็นรถใหม่แต่อาจถูกดำเนินคดีข้อหาไม่มีทะเบียนจากเจ้าหน้าที่ ตนได้สั่งการให้หารือร่วมกันกับทุกหน่วยงานขณะนี้ได้มีมาตรการให้สามารถดำเนินการได้โดยเจ้าหน้าที่ต้องไม่ไปจับกุมดำเนินคดีเพราะเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายที่สามารถทำได้

เรื่องการแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนเพื่อการส่งออก ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่กระทบไปทั่วโลกหลายประเทศประสบปัญหาเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกันกับภาคเอกชนหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ และเอกชนในส่วนอื่นๆ รวมทั้งกรมศุลกากรในเรื่องของการท่าเรือและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ แนวทางว่าการแก้ปัญหาจะประกอบด้วย 1.สำหรับสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องส่งออกโดยการใช้ตู้จะหลีกเลี่ยงการใช้ตู้คอนเทนเนอร์จะใช้เรือที่ขนสินค้าส่งออกแทนเช่น ผลไม้ มะพร้าว หรือพืชเกษตรชนิดอื่นรวมทั้งไม้ยางพาราเป็นต้น โดยมีการเตรียมเรือไว้จำนวนหนึ่ง จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อลดการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ 2.ส่งเสริมให้มีการนำให้เรือบรรทุกสินค้านำตู้เปล่าเข้ามาโดยใช้มาตรการจูงใจเช่น ลดค่าธรรมเนียมนำเข้าตู้เปล่า การท่าเรือจะเป็นผู้ดำเนินการต่อไปโดยเป็นผู้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ คาดว่าจากเร็วที่สุดอาจเป็นวันอังคารที่จะถึงนี้ 3.เรื่องที่เอกชนมาเรียกร้องมาว่าอยากเปิดโอกาสให้เรือขนาด 400 เมตร ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่และมีสายการเดินเรืออยู่ประมาณ 6 สายการเดินเรือเข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังโดยไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องอนุญาตโดยใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่โดยไม่จำเป็น กระทรวงพาณิชย์ภาคเอกชนได้หารือร่วมกันกับการท่าเรือและได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะอนุญาตให้เรือที่มีขนาดใหญ่ 400 เมตร สามารถเข้ามาเทียบท่าและรับสินค้าไทยเพื่อการส่งออกได้โดยขออนุญาตใช้เวลาแค่หนึ่งวันและใบอนุญาตจะมีอายุ 2 ปี สินค้าส่งออกขึ้นเรือใหญ่และไปสู่ประเทศปลายทางได้เลย จากที่จะต้องไปถ่ายลงเรือใหญ่ที่สิงคโปร์หรือท่าอื่นๆทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นการลดต้นทุนไปในตัว

อีกมาตรการหนึ่งที่เข้ามาช่วยเสริม คือสินค้าบางอย่างที่ส่งไปจีน จะเน้นการขนส่งทางรถหรือทางบกให้มากขึ้น โดยเร่งเจรจาส่งออกทางบกผ่านด่านของไทยไปลาวเวียดนาม และจีน ให้ได้มากขึ้น ลดความจำเป็นในการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือและเอกชนอยากให้เปิดด่านชายแดนเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีด่านชายแดนทั้งหมด 97 ด่าน เปิดแล้ว 39 ด่าน ล่าสุดจากการเจรจาของกระทรวงพาณิชย์ได้อีกหนึ่งด่าน คือ ด่านถาวรที่บึงกาฬเป็น 40 ด่าน อยากเร่งรัดเปิดอีก 3 ด่าน คือ 1.ด่านป่าแซง จังหวัดอุบลราชธานี 2.ด่านเชียงคาน จังหวัดเลย 3.ที่ท่าเรือหายโศก จังหวัดหนองคาย โดยจะนำเข้าหารือที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารนี้เพื่อให้ท่านนายกสั่งการเป็นนโยบายเพื่อเร่งรัดการส่งออกสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *