กรมสุขภาพจิตเปิด“แผนการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019(COVID-19)”หรือ“แผน C4”เผยกลยุทธ์และกรอบแนวทางในการดูแลช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จากผลกระทบโควิด19 ให้มีสุขภาพจิตที่ดี มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตลดลง หากเกิดปัญหาสุขภาพจิตกับตนเองหรือเพื่อนร่วมงานก็รับทราบและสามารถเข้าถึงแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือได้
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ต้องทำงานอย่างหนักในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทุกวันๆ ทำให้เกิดความเครียดสะสมหรืออ่อนล้าหมดไฟในการทำงาน และนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา และจากที่กรมสุขภาพจิตได้มีการประเมินสภาวะทางด้านจิตใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ ด้วยเครื่องมือ Mental Health Check-in ตั้งแต่ มกราคม 2563 นับถึงปัจจุบัน(สิ้นเดือน มกราคม 2564) รวมทั้งสิ้นกว่า 86,000 ราย พบว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีปัญหาด้านสุขภาพจิตใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ภาวะหมดไฟ (Burnout) ร้อยละ 6.76 ,เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 5.28 และ มีภาวะเครียดสูง ร้อยละ 4.49
จากปัญหาทางด้านสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด 19 กรมสุขภาพจิตได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือดูแลจิตใจบุคลากรกลุ่มดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นกลุ่มนักรบที่ต้องต่อสู้ในสงครามการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อยาวนาน นอกจากการติดตามประเมินสภาวะทางด้านจิตใจจากการทำงานหนักของบุคลากรกลุ่มดังกล่าวแล้ว กรมสุขภาพจิตยังมีนโยบายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือดูแลจิตใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย โดยได้มีการจัดทำ“ แผนการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019(COVID-19) (Combat 4th wave of COVID-19 Plan : C4)”หรือ“ แผน C4”(แผนซีโฟร์) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดูแลช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมถึงประชาชนทั่วไปให้มีสุขภาพจิตที่ดี มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตลดลง หากเกิดปัญหาสุขภาพจิตกับตนเองหรือเพื่อนร่วมงานก็รับทราบและสามารถเข้าถึงแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือได้
นายแพทย์อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ในฐานะผู้รับผิดชอบงานด้านการดูแลจิตใจบุคลากรจากผลกระทบโควิด19กล่าวว่า“แผนการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019(COVID-19) (Combat 4th wave of COVID-19 Plan : C4)”หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “แผน C4” (แผนซีโฟร์) ประกอบด้วยกรอบแนวคิดและ 6 กลยุทธ์ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยตรง เช่น การเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต จะมีการดำเนินงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ในเชิงรุกจะมีการคัดกรองด้วย Mental Health Check-in หากพบว่ามีความเสี่ยงจะดำเนินการตามระบบช่วยเหลือต่างๆ เช่น การให้คำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิตสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (Hotline for Hero) การใช้รถโมบายคลายเครียด การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามใจเป็น One stop service สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ในขณะการดำเนินงานเชิงรับจะมีการเปิดช่องทางติดต่อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขใน Facebook Fan page และ Line official Account Hotline for Hero ให้ฝากข้อมูลไว้และทีมงานดำเนินการติดต่อไป จากทุกช่องทางที่กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการหากพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับบริการแล้ว ยังมีความเสี่ยงอยู่ ก็จะพิจารณาส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการปกติต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการทำActive Screening ด้วย Mental Health Check-in เพื่อรับข้อมูลปัญหาสุขภาพจิต ส่งต่อระบบช่วยเหลือเช่น Hotline for Hero เชิงรุก-เชิงรับ, การให้บริการรถโมบายคลาดเครียด, บริการโรงพยาบาลสนามใจ One Stop Service ส่วนแผนที่จะดำเนินการต่อไปคือจะเพิ่มการเข้าถึง Mental Health Check-in ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้ง Line Official Account และFacebook Fan page Hotline for Hero เพื่อขยายขอบเขตของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มที่เข้าถึงช่องทางดังกล่าว ส่วนใหญ่คือกลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน หรือปฏิบัติงานใน State Quarantineต่างๆ รวมทั้งอยู่ในสังกัดกรมสุขภาพจิตเอง ทำให้ยังมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบช่องทางดังกล่าว