ชป.เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมฯ อ่าง​เก็บ​น้ำ​น้ำ​ลาย​อัน​เนื่อง​มาจาก​พระราชดำริ​ จ.เลย

 

กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการ​ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบ​สิ่งแวดล้อม​เบื้องต้น​ โครงการอ่าง​เก็บ​น้ำ​น้ำ​ลาย​อัน​เนื่อง​มาจาก​พระราชดำริ​ จังหวัดเลย หวังบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ให้ราษฎรในพื้นที่มีน้ำเพื่อการเกษตรและน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังนำคณะสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่ติดตามโครงการ​ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบ​สิ่งแวดล้อม​เบื้องต้น​ อ่าง​เก็บ​น้ำ​น้ำ​ลาย​อัน​เนื่อง​มาจาก​พระราชดำริ​ จังหวัดเลย ว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบ​สิ่งแวดล้อม​เบื้องต้น​ อ่าง​เก็บ​น้ำ​น้ำ​ลาย​อัน​เนื่อง​มาจาก​พระราชดำริ​ จังหวัดเลย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะต้องดำเนินการแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและภาคประชาชนในพื้นที่ จัดตั้งโครงการปลูกป่า เพื่อทดแทนพื้นที่ป่าที่สูญเสียไป หากมีการก่อสร้างโครงการฯ รวมไปถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อชุมชนและดูแลความเป็นอยู่ของราษฎรที่ได้รับผลกระทบให้ดีที่สุด

สำหรับ​โครงการ​อ่างเก็บ​น้ำ​น้ำ​ลาย​อัน​เนื่อง​มาจาก​พระราชดำริ​ เป็นโครงการฯที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ​ให้กรมชลประทาน พิจารณา​วางโครงการ​ชลประทานใน​ลุ่มน้ำเลย​ ด้วยการพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำในลำน้ำลาย​ สำหรับเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อให้ราษฎร​ในลุ่มน้ำ​เลย ได้ใช้ทำการเพาะปลูก​ทั้ง​ในฤดูฝนและฤดูแล้ง​ อีกทั้งยังใช้ในการอุปโภค​บริโภค​ได้ตลอดทั้งปี​ด้วย

โครงการอ่างเก็บ​น้ำ​น้ำ​ลาย​อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหัวงานเขื่อนตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่​ 5 บ้านไร่ทาม​ ตำบลนาอาน​ อำเภอเมือง​ จังหวัดเลย​ ความยาวสันเขื่อน​ประมาณ 434 เมตร​ เก็บกักน้ำได้ประมาณ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ซึ่งจากการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่าให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน  มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 17,200 ไร่  พื้นที่ชลประทานประมาณ 13,249 ไร่ ใช้ระบบส่งน้ำแบบท่อและคลองส่งน้ำรูปตัวยู ครอบคลุม 2 ตำบลในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเลย ได้แก่ ตำบลนาอาน และตำบลชัยพฤกษ์ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ดีขึ้น และจะสามารถช่วยเหลือการเพาะปลูกพืชไร่ในฤดูแล้งประมาณ 8,979 ไร่ 15 หมู่บ้าน 3,229 ครัวเรือน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *