กรมอนามัย แนะ บริโภคน้ำแร่จากน้ำบาดาล ไม่เหมาะกับผู้มีโรคประจำตัว

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ผู้มีโรคประจำตัว อาทิ ผู้ป่วยที่มีอาการบวมน้ำ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีการทำงานของหัวใจไม่ดี ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารปริมาณมาก และผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินหายใจที่มีภาวะหลอดลมหดเกร็ง ไม่ควรดื่มน้ำแร่จากน้ำบาดาล

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สำรวจแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่บ้านทุ่งคูณ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี พบแหล่งน้ำพุบาดาลที่มีลักษณะพิเศษคือ มีความซ่า คล้ายน้ำโซดา และมีรสหวานนิด ๆ และจากการตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำบาดาลดังกล่าวเบื้องต้น พบว่ามีค่าพีเฮช หรือค่าความเป็นกรดด่างอยู่ที่ 6.75 มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำธรรมดามาก ไม่เจอสารพิษใด ๆ ปนเปื้อน แต่พบปริมาณไบคาร์บอเนตสูง ซึ่งเป็นน้ำแร่ชนิดหนึ่งในจำนวนหลายๆ ชนิด เช่น น้ำแร่ซัลเฟต (Sulfate water) น้ำแร่ซัลเฟต-ไบคาร์บอเนต (Sulfate-bicarbonate waters) น้ำแร่แคลเซียม (calcium water) ทั้งนี้ แต่ละชนิดก็จะมีคุณประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภคแตกต่างกันไป สำหรับคนปกติทั่วไปการดื่มน้ำแร่ก็เหมือนกับดื่มน้ำที่สะอาดทั่วไป ไม่ได้ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย แต่ผู้ป่วยที่มีอาการบวมน้ำ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีการทำงานของหัวใจไม่ดี ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารปริมาณมาก และผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินหายใจที่มีภาวะหลอดลมหดเกร็ง ไม่ควรดื่มน้ำแร่


​นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับคนปกติที่ดื่มน้ำแร่ไบคาร์บอเนตจะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนของอาหารจากกระเพาะไปยังลำไส้เล็กให้เร็วขึ้น กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนในกระเพาะอาหาร แต่คนที่มีปัญหาในการย่อยอาหารในกระเพาะอาหารหรือภาวะ gastric hypochilia จะทำให้ระบบการย่อยและลำไส้ไม่ปกติ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ส่วนน้ำแร่ชนิดซัลเฟต-ไบคาร์บอเนต (Sulfate-bicarbonate waters) จะมีคุณประโยชน์ในการรักษาโรคเบาหวาน โดยจะช่วยลดอาการกระหายน้ำ ระดับน้ำตาล และช่วยลดความต้องการของอินซูลิน ถึงแม้น้ำบาดาลดังกล่าวจะมีคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีเหมาะสมตามเกณฑ์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภคก็ตาม แต่การนำมาจัดทำระบบประปาเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน ควรมีการเพิ่มระบบฆ่าเชื้อโรคก่อนแจกจ่ายให้กับประชาชนด้วย เนื่องจากอาจจะมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคในระหว่างการเก็บกัก หรือในระบบจ่ายน้ำก่อนถึงครัวเรือนประชาชนได้


“ทั้งนี้ จากข้อสงสัยเกี่ยวกับการดื่มน้ำบาดาลดังกล่าวจะเป็นโรคนิ่วหรือไม่นั้น โรคนิ่วเกิดจากการรวมตัวกันของผลึกของเกลือแร่หรือหินปูนจนเป็นก้อนนิ่ว เนื่องจากความเข้มข้นของเกลือแร่ในปัสสาวะสูง เช่น ดื่มน้ำ น้อยกว่าปกติ หรือกินอาหารบางประเภทที่มีเกลือแร่ขับออกมาทางน้ำปัสสาวะมาก ซึ่งการดื่มน้ำแร่ไม่ได้ทำให้ เกิดนิ่วและไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดนิ่ว และถ้าใครไม่อยากเป็นนิ่วแนะนำให้ดื่มน้ำมากกว่าวันละ 8 แก้ว กินอาหารที่มีประโยชน์มีสารอาหารครบถ้วนและสัดส่วนที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารหวานมาก เค็มมาก และอาหารที่มี กรดยูริกสูง รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกซาเลตสูง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *