หลังจากที่ คณะกรรมการโควิด-19 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 7/2564 ลงวันที่ 11 ก.พ. 2564 ระบุ ตามที่คณะกรรมการโควิด-19 จุฬาฯ ประกาศพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ซึ่งพักอาศัยในหอพักบุคลากรและดำเนินการส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจุฬาฯ แล้วนั้น
ศูนย์บริการสุขภาพ จุฬาฯ ได้มีการคัดกรองเชิงรุกเพิ่มจำนวน 243 ราย และพบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) เพิ่มอีก 3 คน จึงได้เร่งดำเนินการคัดกรองกับผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 1 คน รวมทั้งสิ้น 4 คน รวมมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่จุฬาฯ ระหว่างวันที่ 5-11 ก.พ. 2564 แล้วทั้งสิ้น 20 คน
ต่อมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ประกาศ ปิดที่ทำการที่ตั้งในเขตกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12-28 ก.พ. 2564 เพื่อเป็นการป้องกันและให้เกิดความปลอดภัยแก่นักเรียน นิสิต และบุคลากร จากการแพร่ระบาด รวมทั้งลดโอกาสติดเชื้อโรค COVID-19 และเพื่อให้การดำเนินงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดยประกาศมีรายละเอียดดังนี้
ข้อ 1 ให้มหาวิทยาลัยปิดที่ทำการที่ตั้งในเขตกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12-28 ก.พ. 2564
ข้อ 2 ขอให้นิสิตและบุคลากรหลีกเลี่ยงการออกจากสถานที่พักอาศัย การเดินทางไปยังที่ชุมนุมชน หรือการพบปะบุคคลอื่นโดยไม่มีเหตุจำเป็น และมีหน้าที่ติดตามข่าวสารจากมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด
ข้อ 3 ให้จัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้
หากมีการวัดและประเมินผลระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้ผู้สอนพิจารณาปรับรูปแบบการวัดและประเมินผล โดยใช้วิธีการอื่นนอกจากการทำข้อสอบในห้องสอบหรือการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม
ข้อ 4 ให้บุคลากรปฏิบัติงาน ณ สถานที่พักอาศัยของตนเอง พร้อมรับการติดต่อหรือสั่งการจากผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานที่ปฏิบัติ และรักษาระเบียบวินัยในการปฏิบัติงานโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล มอบหมายงานให้บุคลากรปฏิบัติตามที่เห็นสมควร
ข้อ 5 กรณีงานที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การตรวจคัดกรองเชื้อโรค COVID-19 การดูแลนิสิตที่พักในหอพักของมหาวิทยาลัย หรืองานอื่นตามที่มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานประกาศกำหนด ให้บุคลากรนั้นมาปฏิบัติงานเท่าที่จำเป็น โดยให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล ปรับวันหรือเวลามาปฏิบัติงานของบุคลากรนั้นให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
ข้อ 6 ในกรณีจำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล อาจจัดให้มีการประชุมหรือปรึกษาหารือระหว่างบุคลากรผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สั่งให้บุคลากรคนใดมาปฏิบัติงาน หรือดำเนินการอื่นใดเท่าที่จำเป็นก็ได้
ข้อ 7 หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล อาจกำหนดรายละเอียดหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อดำเนินการโดยไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ก็ได้
ข้อ 8 กรณีที่มีปัญหาหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ ให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล วินิจฉัยชี้ขาด