กทม.เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำพร้อมรับมือสถานการณ์ฝน

 

วันที่ 13 ก.พ.64 นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีความลาดชันน้อย และมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้น้ำไม่สามารถไหลตามธรรมชาติลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งจัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2564 ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมระบบท่อระบายน้ำ ความยาวรวม 6,175 กม. อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ ความยาว 1,950 กม. สำนักงานเขต ความยาว 4,225 กม.

โดยดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ความยาว 3,166 กม. คิดเป็นผลงาน 22.57% การเตรียมความพร้อมระบบคลอง จำนวน 1,682 คู/คลอง ความยาวรวม 2,604 กม. อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ จำนวน 218 คู/คลอง ความยาว 960 กม. สำนักงานเขต จำนวน 1,464 คู/คลอง ความยาว 1,644 กม. การเปิดทางน้ำไหล ซึ่งดำเนินการเป็นประจำ จำนวน 284 คลอง ความยาว 938 กม. และหมุนเวียนเปิดทางน้ำไหล จำนวน 1,429 คลอง ความยาว 1,547 กม. คิดเป็นผลงาน 46.38% การขุดลอก จำนวน 292 คู/คลอง ความยาว 404 กม. คิดเป็นผลงาน 56.53%

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ Pipe Jacking ระยะที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จ 6 โครงการ ได้แก่

1.ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์

2.ซอยสุขุมวิท 31 และซอยสวัสดี

3.ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย)

4.ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง

5.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู

6.ซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา

ส่วนอีก 4 โครงการ ได้แก่

1.ถนนสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี)

2.ถนนศรีอยุธยา และถนนพระรามที่ 6

3.ซอยสุขุมวิท 4 (นานาใต้)

4.ซอยสุขุมวิท 39

คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ Pipe Jacking ระยะที่ 2 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

1.ถนนสุวินทวงศ์

2.ถนนจันทร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 เช่นกัน

ส่วนโครงการ Water Bank ธนาคารน้ำใต้ดิน ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 โครงการ ได้แก่

1.งานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินบริเวณวงเวียนบางเขน

2.งานปรับปรุงระบบระบายน้ำปากซอยสุทธิพร

2 ส่วนอีก 2 โครงการ ได้แก่

1.งานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินในที่ดินสาธารณะบริเวณใต้สะพานทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์กับถนนกรุงเทพกรีฑา

2.งานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินบริเวณสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดถนนวิภาวดี

คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 ด้านโครงการแก้มลิงเก็บน้ำตามศาสตร์พระราชา ดำเนินการแล้วเสร็จ ได้แก่ งานก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมประตูระบายน้ำ เพื่อเป็นแก้มลิงหมู่บ้านเฟรนด์ชิพ ส่วนอีก 2 โครงการ ได้แก่

1.งานก่อสร้างแก้มลิงบึงสาธารณะลาดพร้าว 71

2.โครงการก่อสร้างแก้มลิงสวนเบญจกิติ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งตรวจสอบระบบการทำงานของอุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และระบบไฟฟ้าสำรอง การจัดเก็บขยะ วัชพืชและผักตบชวา เพื่อเปิดทางน้ำไหลและช่วยในการหมุนเวียนถ่ายเทน้ำ ตลอดจนการลดระดับน้ำในคลองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมา ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำแล้วเสร็จหลายโครงการ อย่างไรก็ตามหากฝนที่ตกลงมาในปริมาณมากเกินกว่า 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง กรุงเทพมหานครจะใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เร็วกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปริมาณฝนที่เท่ากัน
—–

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *