กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อบรรเทาอุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี หวังบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนชาวอุบลราชธานี
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อบรรเทาอุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการประชุมฯ โดยมีนายแหลมทอง พงศ์สุทธิยากร รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 และประชาชน ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้นำชุมชน ผู้แทนภาคเอกชน และสื่อมวลชน รวม 200 คน เข้าร่วมรับฟังแนวทางการศึกษาพร้อมเสนอความคิดเห็นต่อโครงการฯ ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ โฮเทล แอน คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
รองฯเฉลิมเกียรติฯ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมฯว่า เมื่อปี 2562 จังหวัดอุบลราชธานี ประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนและหาแนวทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ด้วยการวางแผนแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ เนื่องจากสภาพพื้นที่และระบบลำน้ำต่างๆ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพื้นที่ลุ่มน้ำข้างเคียง อีกทั้งระบบลุ่มน้ำหลักจำเป็นต้องใช้ระบบบริหารจัดการ การคาดการณ์ที่สามารถบูรณาการทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ที่อาจเกิดผลกระทบต่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดำเนินการ จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาศักยภาพการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีทั้งหมด รวมไปถึงศึกษาความต้องการน้ำด้านต่างๆให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย
สำหรับการประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ ในวันนี้ เป็นการชี้แจงความเป็นมา วัตถุประสงค์ และขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการฯ ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึงกัน พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการศึกษาให้ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดไว้ 4 แนวทางคือ การผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลราชธานีและแก่งต่างๆ การขุดลอกปรับปรุงลำน้ำ การกำหนดพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับรับน้ำนอง และการกำหนดพื้นที่มีศักยภาพสำหรับการทำแก้มลิง
ทั้งนี้ กรมชลประทานจะดำเนินการ รวบรวมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำไปศึกษาและวิเคราะห์อย่างละเอียด สำหรับนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนแก้ไขปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้อย่างยั่งยืนต่อไป