กรมอนามัย แนะประชาชนเลี่ยงดื่มน้ำบาดาลโซดาจากแหล่งน้ำดิบ ชี้ ควรผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพก่อนนำมาดื่ม

กรมอนามัย แนะประชาชนเลี่ยงดื่มน้ำบาดาลโซดาจากแหล่งน้ำดิบ ชี้ ควรผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพก่อนนำมาดื่ม

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนให้เลี่ยงนำน้ำบาดาลโซดาจากแหล่งน้ำดิบมาใช้ทั้งอุปโภค บริโภคโดยตรง เนื่องจากมีค่าฟลูออไรด์และเหล็กสูงเกินกว่าเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ ควรใช้น้ำที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพก่อน เพื่อความมั่นใจและปลอดภัยมากกว่า


นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันน้ำบาดาลโซดา ที่เจาะพบในพื้นที่ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ดื่มได้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีสารพิษปนเปื้อน หลังผ่านการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ และน้ำนั้นต้องผ่านการกรองก่อน เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับประชาชน ทั้งนี้ การนำน้ำมาดื่มนั้นขอให้เลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำดิบโดยตรง แต่ควรเป็นน้ำดิบที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยการกรอง เนื่องจากน้ำบาดาลโซดาจากแหล่งน้ำดิบตามที่เป็นข่าวมีค่าฟลูออไรด์สูงอยู่ที่ปริมาณ 1.1 – 1.4 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีค่าเหล็กสูงอยู่ที่ปริมาณ 10 – 28 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงเกินกว่าเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย พ.ศ. 2563 ที่กำหนดตามคำแนะนำของ องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยฟลูออไรด์ต้องมีค่าไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร และเหล็กต้องมีค่าไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร เนื่องจากหากร่างกายได้รับฟลูออไรด์ ปริมาณสูงเกิน 0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เป็นเวลานานจะเป็นสาเหตุของการเกิดสภาวะฟันตกกระตามมาได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับเหล็กนั้น หากมีในน้ำดื่มไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อลิตร สามารถดื่มได้ทุกวันโดยไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ถ้ามากกว่านั้นอาจจะเกิดการสะสมจนเกิดภาวะเหล็กเกิน ( Hemochromatosis) ตามอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อต่อ ตับ ตับอ่อน และหัวใจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคตับ โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน เนื่องจากในแต่ละวันคนเราจะได้รับเหล็กในอาหารเป็นหลักอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การมีเหล็กในน้ำเกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร นั้น จะทำให้เกิดสี กลิ่น และรสที่ไม่น่านำมาดื่ม นอกจากนี้หากนำมาเป็นน้ำใช้ยังทำให้เกิดคราบเกาะตามเสื้อผ้าและสุขภัณฑ์ตามบ้านอีกด้วย ดังนั้นเมื่อนำน้ำบาดาลโซดาดังกล่าวมาตั้งทิ้งไว้ข้ามคืนจะเกิดตะกอนขุ่นสีเหลืองถึงส้ม ซึ่งเกิดจากเหล็กในน้ำทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ทำให้สภาพน้ำ ไม่น่าดื่ม จึงควรนำมาปรับปรุงคุณภาพน้ำตามกระบวนการผลิตน้ำประปาบาดาลและตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาก่อนที่จะแจกจ่ายให้ประชาชนใช้อุปโภค บริโภค ซึ่งกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำในระบบประปาจะมีการเติมอากาศลงไปในน้ำดิบก่อนเพื่อให้ทำปฎิกิริยากับเหล็กในน้ำจนเกิดตะกอนของสนิมเหล็กแล้วนำไปผ่านการกรองด้วยทรายกรองอีกทีหนึ่ง หรือใช้สารกรองที่มีคุณสมบัติในการดูดซับเหล็กในน้ำบาดาล เช่น ทรายแมงกานีส (Manganese sand)
“ทั้งนี้ น้ำที่เหมาะสำหรับการบริโภคในครัวเรือนนั้น ควรมีคุณภาพตามเกณฑ์แนะนำขององค์การ อนามัยโลก ซึ่งกรมอนามัยใช้เป็นแนวทางในการจัดทำเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้มาโดยตลอด ซึ่งประกาศ กรมอนามัย เรื่องเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย พ.ศ. 2563 ได้กำหนดเกณฑ์เพื่อชี้วัดคุณภาพน้ำประปา ที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค โดยมีตัวชี้วัดทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ จำนวน 21 รายการ เพื่อเป็นเกณฑ์อ้างอิงทางวิชาการที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาให้เหมาะสมสำหรับการบริโภคในครัวเรือน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 18 กุมภาพันธ์ 2564

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *