สธ.สนับสนุนการพัฒนาวัคซีน “ChulaCov19” เตรียมวิจัยในคน

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ S__5161111-1024x682.jpg

สธ.สนับสนุนการพัฒนาวัคซีน “ChulaCov19” เตรียมวิจัยในคน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 “ChulaCov19” ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยความก้าวหน้า เตรียมวิจัยในคนระยะที่ 1 เดือนพฤษภาคมนี้

      วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2564) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 "ChulaCov19" ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ


      นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาล พร้อมสนับสนุนการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของทีมไทยแลนด์ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีและขอเป็นกำลังใจให้โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หรือ "ChulaCov19" ที่ขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก จะช่วยเสริมฐานที่แข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น พึ่งพาตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอความสำเร็จที่เชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน รัฐบาลไทยได้จัดหาวัคซีนโควิด 19 จำนวน 63 ล้านโดส ฉีดสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับประชาชน ที่ผ่านมาเรามีศักยภาพสามารถผลิตหน้ากากอนามัย ชุด PPE น้ำยาตรวจหาเชื้อได้เอง รวมทั้งมีความพร้อม ทั้งเตียง โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ยารักษา อย่างเพียงพอและมีความมั่นคง  หวังว่าวัคซีน ChulaCov19 จะมาช่วยเสริมการป้องกันควบคุมและรักษาโรคโควิด 19 ของประเทศให้สมบูรณ์ครบวงจร

      "ขณะนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย ถ้าจะให้ได้วัคซีนต้องจ่ายเงิน ต้องซื้อตามที่เขากำหนด ดังนั้นประเทศไทยต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ โดยโครงการพัฒนาวิจัยวัคซีนโควิด 19 ของจุฬาฯ ใกล้ความสำเร็จ และเราพร้อมสนับสนุนทุกโครงการพัฒนาวัคซีนของประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงของระบบสุขภาพไทยในอนาคต” นายอนุทินกล่าว

      ทั้งนี้ วัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่มีความก้าวหน้า สามารถป้องกันและลดจำนวนเชื้อได้อย่างมากในหนูทดลอง และเก็บรักษาในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ 2-8 องศาเซลเซียสได้อย่างน้อย 1 เดือน ส่วนการเก็บวัคซีนให้ได้ระยะ 3 เดือนอยู่ระหว่างรอผลการวิจัย ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมต่อการขนส่งและกระจายวัคซีน คาดว่าจะได้รับวัคซีนต้นแบบนำมาทดสอบในอาสาสมัครได้ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้ และเตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อรองรับเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *