รู้สึกเหมือนจะป่วย “กินยาดัก” ไม่ได้ช่วยอะไร

หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินหรือประสบกับตนเองกันมาบ้าง หากวันไหนที่เราเปียกฝน ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านมักจะเตือนเราเสมอว่า “เดี๋ยวไม่สบายนะ ไปกินยาดักไว้ก่อน” ซึ่งเราก็คงกินบ้างไม่กินบ้างแล้วแต่อารมณ์ แต่ในเมื่อเรายังไม่ได้ป่วย หรืออาจจะไม่ป่วยก็ได้ เราสามารถกินยาเพื่อดักไข้ได้จริงๆ เหรอ?

“การกินยาดักไข้” เป็นความเชื่อที่คนเฒ่าคนแก่แทบทุกบ้านเชื่อกันแบบนั้น ความเชื่อนี้ถูกส่งต่อมายังลูกหลานรุ่นต่อไป เพราะต่างก็เคยโดนมาเหมือนกัน เมื่อไรก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกเหมือนจะไม่สบาย หรืออยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงจะไม่สบาย ผู้ใหญ่ก็มักจะไล่ให้ไปกินยาเพื่อดักไข้เอาไว้ก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ป่วย

อย่าทำเป็นเล่น ยาไม่ใช่ขนม

ขึ้นชื่อว่า “ยา” หมายถึงสิ่งที่ใช้แก้โรค ป้องกันโรค หรือบำรุงร่างกาย แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะกินยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยหรือรักษาโรค หมายความว่ายาไม่ใช่ขนม หรือข้าวที่เราจะกินได้เรื่อย ๆ ตามที่ใจอยาก ถ้าเราไม่ได้ป่วย ไม่ได้เป็นโรค เราก็ไม่ควรจะกินยา เพราะยาแต่ละอย่างก็คงไม่รู้ว่าจะไปรักษาอะไรตรงไหนด้วย และที่สำคัญยาทุกตัวมีผลข้างเคียง จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฤทธิ์ยา ประเภทยา ปริมาณยา และร่างกายของแต่ละคน จากที่เราตั้งใจจะกินยาเพื่อดักไข้หวัด เราอาจป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายเลยก็ได้

ดังนั้น การกินยาเพื่อดักไข้ ไม่สามารถป้องกันไม่ให้ร่างกายป่วยได้ เนื่องจากยาประเภทนี้มีสรรพคุณไม่ใช่ป้องกันโรคหรือบำรุงร่างกาย ถ้าร่างกายเราภูมิคุ้มกันต่ำ หรืออ่อนแอมากจริง ๆ เราก็เจ็บป่วยได้อยู่ดี แถมยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรมจากการกินยาพร่ำเพรื่อ กินยาเกินขนาดได้

ยายอดฮิตที่คนมักกินดักไข้

ยายอดฮิตที่เรามักจะโดนให้กินเพื่อดักป่วยก็คือ บรรดายาสามัญประจำบ้านทั้งหลายที่มีติดบ้านกันทุกบ้าน ที่บ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้น “ยาพาราเซตามอล” หรือยากลุ่มฮิสตามีน ซึ่งก็คือ “ยาแก้แพ้” เมื่อเป็นยาที่หาซื้อได้ทั่วไป และมีติดบ้าน หลายคนก็เลยเข้าใจว่ามันไม่อันตราย จึงคิดไม่ถึงว่ายา ถ้ากินมาก ๆ ไม่ว่าจะยาอะไรก็อันตรายเหมือนกัน

เมื่อเรากินยาเข้าไป กระบวนการการทำงานของยา ยาจะละลายและดูดซึมตามอวัยวะต่าง ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่กระแสเลือด แล้วลำเลียงไปออกฤทธิ์บริเวณที่เจ็บป่วยตามสรรพคุณที่ยานั้น ๆ ถูกออกแบบมา ซึ่งยาบางส่วนก็จะถูกลำเลียงไปที่ตับ อวัยวะที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย

เมื่อเรากินยาเข้าไปมากๆ ทั้งที่ไม่ได้เจ็บป่วย สารเคมีที่อยู่ในยาจะทำให้ตับทำงานหนัก เพราะต้องกรองสิ่งแปลกปลอมออกไป มากๆ เข้า ยิ่งตับทำงานหนัก ก็เริ่มบกพร่อง เสื่อมสภาพ จนทำงานได้ไม่เต็มที่ ถึงจุดที่สุดๆ แล้ว ก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้เลย

พาราเซตามอล เป็นยาที่เรากินกันบ่อยที่สุดเมื่อรู้สึกไม่สบาย เพราะเวลาที่เราเป็นไข้ หรือเป็นหวัด จะมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ซึ่งสรรพคุณของยาพาราเซตามอลจะไปลดไข้ บรรเทาปวด กลายเป็นความเข้าใจผิดที่ว่าถ้าไม่อยากปวดหัวหรือเป็นไข้ ก็ให้กินพาราเซตามอลดักเอาไว้

หารู้ไม่ว่า ยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ถ้าเรากินเกินวันละ 8 เม็ด (ปกติผู้ใหญ่จะกินมื้อละ 2 เม็ด) ติดต่อกันนาน 5-7 วัน จะมีผลต่อตับของเราอย่างแน่นอน ดังคำเตือนที่ติดอยู่ด้านหลังฉลากยา ตับจะทำงานหนักเพราะต้องรับสารเคมีจากยาปริมาณมาก เมื่อสะสมมากเข้า เซลล์ตับถูกทำลาย หรือมีอาการตับอักเสบ อาจทำให้เกิดอาการตับวายได้ นอกจากนี้ยังเกิดอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ไม่ควรควรเกิด อย่างคลื่นไส้ อาเจียน มึนเวียนหัวได้

ยาแก้แพ้ เป็นยากลุ่มต้านฮิสตามีน ช่วยลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล เมื่อมีอาการจามหรือเริ่มมีน้ำมูก เราก็จะหันไปพึ่งยาแก้แพ้ ซึ่งยาแก้แพ้มีทั้งแบบที่ทำให้ง่วงและไม่ง่วง ยาที่ทำให้ง่วง ทำให้ง่วงซึม ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง สับสนมึนงง ปากแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะมีปัญหา ตาพร่ามัว หรืออาจเกิดอุบัติเหตุจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่วนยาแก้แพ้ที่ไม่ง่วง ทำให้ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง ตาแห้ง ตามัว ที่สำคัญก็มีผลต่อตับด้วยเช่นเดียวกัน

เราไม่จำเป็นที่ต้องกินยาดักไข้!

ปกติแล้ว เมื่อร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันน้อยลง โอกาสที่จะเจ็บป่วยก็เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าร่างกายเราอ่อนแอ ไม่ว่ายังไงเราก็ป่วยอยู่ดี แต่ถ้าเราแค่เริ่มรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว รู้สึกเหมือนจะป่วย เราไม่จำเป็นต้องกินยาอะไรเลย เพียงแค่พยายามเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นเท่านั้นก็พอ เช่น นอนหลับพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำเยอะๆ ทำให้ร่างกายอบอุ่นเข้าไว้ เพราะร่างกายของเรามีกระบวนการต่อต้านเชื้อโรคอยู่แล้ว ถ้าภูมิคุ้มกันเราแข็งแรง อาการที่เหมือนจะป่วยก็จะดีขึ้นแล้วหายไปเอง

ไม่กินยาดักไข้ แล้วจะทำยังไงดี?

ในเมื่อการกินยาเพื่อดักอาการป่วยนั้นไม่ได้ช่วยอะไร แถมยังเสี่ยงจะสุขภาพพังกว่าเดิมอีก แต่ถ้าจะรอให้ป่วยจริงๆ เพื่อที่จะได้กินยาก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำเท่าไร ดังนั้น เมื่อรู้สึกเหมือนกำลังจะไม่สบาย ครั่นเนื้อครั่นตัว วิธีการก็ง่ายๆ คือ แค่ดูแลตัวเองให้มากกว่าเดิมเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายอ่อนเพลีย ดูแลตัวเองอย่าให้เครียด ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ

อาหารการกินก็สำคัญไม่น้อย เพราะอาหารหลายอย่างมีสรรพคุณในการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และสารอาหารแต่ละชนิดก็มีหน้าที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว หรือการกินวิตามินซีก็ช่วยป้องกันไข้หวัดได้ แต่ควรจะเป็นวิตามินซีที่ได้จากอาหารตามธรรมชาติจะดีกว่า พูดง่าย ๆ ก็คือ กินอาหารที่มีประโยชน์อย่างเหมาะสม ร่างกายก็แข็งแรงแล้ว

แต่ถ้าไม่สามารถดักอาการป่วยได้ ก็แค่รักษาอาการเจ็บป่วยนั้นด้วยตัวเอง ถ้าอาการไม่หนักก็ดูแลตัวเองให้มากขึ้นตามวิธีข้างต้นที่แนะนำไป ส่วนยาสามัญประจำบ้านก็เอาไว้กินเวลาที่มีอาการป่วยแบบเล็กน้อยๆ แต่ควรจะมีอาการแล้วจริงๆ ถึงค่อยกิน อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการไม่สู้ดี หรือไม่มีท่าทีจะดีขึ้น ก็แค่ไปหาหมอ หรืออย่างน้อยที่สุดคือปรึกษาเภสัชกรในการซื้อยา พยายามอย่าหายากินเอง หรือจะเลี่ยงไปใช้ยาสมุนไพรที่มั่นใจจริงๆ ว่าไม่อันตราย

ยาแต่ละชนิดล้วนอันตราย ดังนั้นก่อนที่จะหยิบยาขึ้นมากิน ควรอ่านฉลากยาให้ละเอียด สอบถามเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนใช้ ไม่ใช่ว่าจะหยิบมากินเมื่อไรก็ได้ กินเท่าไรก็ได้ อาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างเกิดขึ้นได้เมื่ออากาศเปลี่ยน หรือภูมิต้านทานต่ำ เป็นอาการของไข้หวัดธรรมดา โดยอาจเกิดจากเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียก็ได้ อาการทั่วไปคือมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ แต่รู้สึกไม่สบายตัว คัดจมูก ไอ จาม หรือมีน้ำมูกใสๆ ซึ่งไม่ใช่อาการรุนแรง แค่ดูแลตัวเองให้ดีไม่กี่วันก็หายแล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *