‘กรมเจรจาฯ’ ชี้! ‘เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์’ ยังขยายตัวได้ช่วงโควิด หนุนผู้ประกอบการใช้ FTA ขยายส่งออก

 

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยความต้องการสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตลาดสหรัฐฯ และจีนพุ่งช่วงโควิด ดันไทยส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ปี 2563 ยังขยายตัวได้ ชี้! อุตสาหกรรมไทยมีโอกาสขยายตลาดเพิ่ม หากใช้ประโยชน์จาก FTA เร่งปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี และผลิตสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภค

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนใช้เวลาทำกิจกรรมภายในบ้านมากขึ้น จึงเกิดความต้องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นด้วย โดยในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 60,075 ล้านเหรียญสหรัฐ (+0.4%) จากปี 2562 โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (+27) และจีน (+9)

นางอรมน เพิ่มเติมว่า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่การส่งออกขยายตัวได้ดี อาทิ ตู้เย็นตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 2,098 ล้านเหรียญสหรัฐ (+6%) เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ส่งออกมูลค่า 1,002 ล้านเหรียญสหรัฐ (+31%) เครื่องโทรสารโทรศัพท์และส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 2,907 ล้านเหรียญสหรัฐ (+6%) เครื่องส่งวิทยุโทรเลขและโทรทัศน์ ส่งออกมูลค่า 476 ล้านเหรียญสหรัฐ (+12%) พัดลม ส่งออกมูลค่า 345 ล้านเหรียญสหรัฐ (+6%) ลำโพงขยายเสียงและส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 331 ล้านเหรียญสหรัฐ (+87%) และคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 18,669 ล้านเหรียญสหรัฐ (+2%) เป็นต้น

 นางอรมน ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศคู่เอฟทีเอ 16 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งออกจากไทยแล้ว ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ชิลี และฮ่องกง ส่วนอินเดีย และเปรู ยังคงเก็บภาษีนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าบางรายการ สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศคู่เอฟทีเอของไทย 18 ประเทศ ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้ การที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงว่าด้วยสินค้าเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ITA) ขององค์การการค้าโลก (WTO) ยังส่งผลให้ประเทศสมาชิก 82 ประเทศ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้กับไทย ซึ่งรวมถึงประเทศที่ไทยยังไม่มี FTA ด้วย อาทิ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบและนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนและผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น

“ความต้องการสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเติบโตได้อีก โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่มีระบบการทำงานที่ฉลาดมากขึ้น รวมถึงสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กเบาและพกพาสะดวก ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ จึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยจะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น โดยต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของตลาด รวมทั้งใช้ประโยชน์จากแต้มต่อทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย” นางอรมน เสริม

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก เช่น เครื่องปรับอากาศ อันดับ 2 รองจากจีน ไมโครเวฟ อันดับ 3 รองจากจีนและมาเลเซีย และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อันดับ 2 รองจากจีน เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *