วศ.เปิดแลปต้อนรับไทยพีบีเอส พิสูจน์คุณสมบัติข้าวพร้อมทานหุงด้วยน้ำมันจริงหรือไม่..?

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดยนางอาภาพร สินธุสาร ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชุมชน เปิดเผยถึงกรณีมีการทดลองเปรียบเทียบข้าวพร้อมทานในร้านสะดวกซื้อ กับข้าวที่หุงสุกใหม่ ที่พบว่าในข้าวพร้อมทานจากร้านสะดวกซื้อมีความมัน ซึ่งเป็นการทดลองโดยใช้กระดาษซับมัน มาทดลองวางบนผิวหน้าของของเหลว เบื้องต้นพิสูจน์ได้ระดับหนึ่งว่ามีน้ำมันอยู่บนผิวหน้าของข้าวจริง และเมื่อเปรียบเทียบข้าวพร้อมทานดังกล่าวกับข้าวที่เราหุงทานเองที่บ้านและทดลองเก็บรักษาโดยการแช่เย็นหรือ แช่แข็งและนำกลับมาอุ่นใหม่ จะพบว่าเนื้อสัมผัสของข้าวที่หุงทานเองจะไม่นุ่มและร่วนเหมือนข้าวพร้อมทานในร้านสะดวกซื้อ นั้น

นางอาภาภรฯ กล่าวว่า ในการผลิตข้าวสำเร็จรูปพร้อมบริโภคแช่เย็นหรือแช่แข็ง โดยทั่วไปการผลิตจะใช้ข้าวสารและน้ำสะอาดในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ข้าวสุกพอดีในขั้นตอนการฆ่าเชื้อ อาจใช้ไอน้ำหรือน้ำร้อนในกระบวนการฆ่าเชื้อ เมื่อผลิตเสร็จการเก็บรักษาข้าวสำเร็จรูปด้วยการแช่เย็นหรือแช่แข็งจะเกิดการคืนตัวได้ง่ายหรือที่เรียกกันว่า การเกิดปฏิกิริยารีโทรเกรเดชันของแป้ง; Retrogradation ผู้ผลิตจึงอาจเติมสารอื่นลงไป เช่น การเติมน้ำมันพืชในปริมาณเล็กน้อยเพื่อป้องกันการคืนตัว ช่วยรักษาลักษณะเนื้อสัมผัสของข้าวให้มีความเหนียวนุ่ม เกิดการเรียงเมล็ดสวยไม่จับตัวเป็นก้อนติดกันจากสภาวะแช่เย็นหรือแช่แข็ง โดยเราสามารถสังเกตได้จาก เมล็ดข้าวจะมีความมันวาว สัมผัสแล้วอาจมีน้ำมันลื่นติดมือ และเมื่อทดลองเติมน้ำในตัวอย่างจะพบว่ามีน้ำมันลอยขึ้นมาบนผิวหน้า

พร้อมกันนี้ วศ. โดยกลุ่มอาหารสุขภาพ กองกองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านห้องปฏิบัติการทดสอบทดสอบคุณค่าทางโภชนาการและองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร โดยกระบวนการวิเคราะห์ปริมาณน้ำมันหรือไขมันอาหาร ได้ทำการทดสอบคุณภาพของข้าวพร้อมทานจากร้านสะดวกซื้อ และข้าวหุงสุกทานเองตามวิธีมาตรฐานสำหรับวิเคราะห์อาหาร (Standard method for food analysis) เช่น การใช้วิธี Association of Official Analytical Chemist (AOAC) ประกอบด้วย การนำตัวอย่างมาบดให้เป็นเนื้อเดียวกัน และนำมาย่อยด้วยสารละลายกรด แล้วนำมาสกัดด้วยตัวทำลายที่เหมาะสม จากนั้นก็นำมาวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ก็จะได้ปริมาณน้ำมันหรือไขมันต่อปริมาณอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ วศ. ยืนยันว่า ข้าวทั้งสองชนิดมีประโยชน์ในที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเราผลิตอาหารในครัวเรือนหรือระดับอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากต้องอร่อยถูกปากแล้ว อาหารต้องสะอาดและปลอดภัยและถ้าผู้บริโภคต้องการทราบปริมาณไขมันผสมอยู่มากน้อยเท่าไหร่ สามารถดูได้จากฉลากโภชนาการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกันนี้ขอชวนชวนผู้สนใจติดตามข้อพิสูจน์คุณสมบัติข้าวพร้อมทานหุงด้วยน้ำมันจริงหรือไม่ ? ได้ในรายการ “วันใหม่วาไรตี้” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เวลา 08.00 – 10.00 น. หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มอาหารสุขภาพ กองกองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร กรมวิทยาศาสตร์บริการ โทร.02 201 7000 ในวันและเวลาราชการ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *