เกษตรฯ ตอกย้ำทุเรียนไทยไร้โควิด ยืนหนึ่งแชมป์ผลไม้แดนมังกรนำเข้ามากสุด

กรมวิชาการเกษตร  ตอกย้ำความมั่นใจราชาผลไม้ไทยไร้โควิด ยันควบคุมกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางตามมาตรการองค์การอนามัยโลก  ฮุบตำแหน่งแชมป์ผลไม้จีนนำเข้าประเทศมากสุด ปี 63 โกยรายได้เข้าไทยกว่า 6 หมื่นล้านบาท ปี 64 ใส่เกียร์เดินหน้าตรวจเข้มข้นระดมเจ้าหน้าที่กรมลุยให้บริการเพิ่มจากเดิม 2 เท่า ดันส่งออกฉลุย

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมเป็นต้นไปเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ในภาคตะวันออกให้ผลผลิตโดยเฉพาะทุเรียนซึ่งจะมีผลผลิตออกมากที่สุดในช่วงเดือนเมษายน โดยประเทศจีนเป็นตลาดนำเข้าทุเรียนผลสดที่ใหญ่สุดของไทย

ซึ่งจากรายงานของฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว พบว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนผลสดจากไทยปริมาณทั้งสิ้น 575,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 69,000 ล้านบาท ส่งผลให้ทุเรียนครองแชมป์ผลไม้นำเข้าอันดับ 1 ของจีนแซงหน้าการนำเข้าเชอรี่ผลสดทั้งปริมาณและมูลค่า  ถึงแม้ว่าปริมาณการนำเข้าจะลดลงไป 5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี  2562 แต่มูลค่ากลับเพิ่มมากขึ้นถึง 44 เปอร์เซ็นต์  โดยทุเรียนมีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 23 % เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าผลไม้หลักทั้งหมดจากต่างประเทศของจีน

อย่างไรก็ตาม แม้ทุเรียนไทยจะเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนก็ตามแต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรติดตามผลการดำเนินงานการส่งออกในฤดูกาลผลิต 2564 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีการนำเสนอข่าวว่าประเทศจีนระงับการนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยสาเหตุจากตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในตู้คอนเทรนเนอร์ขนส่งทุเรียน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ประสานงานกับอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงปักกิ่งและได้รับหนังสือตอบยืนยันกลับมาว่ารัฐบาลจีนไม่เคยระงับการนำเข้าทุเรียนจากไทยเนื่องจากตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่อย่างใด

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จีนจะยังไม่เคยตรวจพบปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสินค้าเกษตรจากไทยแต่กรมวิชาการเกษตรก็ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ โดยยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่จีนยอมรับและแนะนำให้ประเทศคู่ค้าปฏิบัติด้วยเช่นกัน เพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิต โดยกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำเอกสารการดำเนินการดังกล่าวทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาจีนส่งให้สำนักงานศุลกากรของจีนทราบแล้ว พร้อมกับยืนยันว่าไทยได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในผลไม้ส่งออกตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยดำเนินการตามแนวทางของ WHO และ FAO เพื่อตอกย้ำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของผลไม้ไทยในปี 2564

“ในปี 2564 นี้ กรมวิชาการเกษตร ไม่เพียงแต่จะเข้มงวดการตรวจศัตรูพืชในผลผลิตเท่านั้น  แต่ยังเน้นการตรวจทุเรียนด้อยคุณภาพหรือทุเรียนอ่อน รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) ร่วมกับหน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออก จัดเจ้าหน้าที่เป็นกำลังเสริมให้บริการเพิ่มจากเดิมจำนวนถึง 2 เท่า เพื่อปฏิบัติงานออกใบรับรองสุขอนามัยพืชร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชให้เป็นด้วยความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดย สวพ.6 จะรับภารกิจหลักตรวจทุเรียนอ่อนและกำกับดูแลการใช้ใบรับรอง GAP ของผู้ส่งออก เพื่อผลักดันการส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออกที่มีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน GAP และ GMP ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในแต่ละปีจำนวนมาก รวมทั้งยังสามารถรักษาตลาดทุเรียนไทยในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้าทุเรียนที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของไทยได้ต่อไป ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *