‘เอกชน-ประชาสังคม’ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ใช้กลไกสมัชชาสุขภาพฯ สร้างนโยบายสาธารณะ

“สช.-สสส.” จัดเวทีระดมข้อเสนอ ดึงภาคีภาคเอกชน-ประชาสังคม ร่วมให้ข้อคิดเห็นแนวทางแก้ไขปัญหา “ฝุ่นละออง PM2.5” ผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น พร้อมรวบรวมเป็นร่างมติฯ ภายในเดือน ส.ค.นี้ หวังสานพลังแนวราบสู่บทบาทช่วยลดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายแบบมีส่วนร่วมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) สัดส่วนภาคเอกชนและภาคประชาสังคม

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการกำกับทิศการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วย การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เปิดเผยว่า เส้นทางของกระบวนการระดมข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ จะถูกพัฒนาเป็นข้อเสนอของการผลักดันนโยบายสาธารณะ เข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่จะส่งตรงไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) “ระหว่างนี้เราจะรวบรวมแนวคิด ข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการยกร่างมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น PM2.5 ภายในเดือน ส.ค.นี้ และจะส่งให้ คสช. พิจารณา ซึ่งหากเข้าสู่ ครม. และได้รับการอนุมัติ แนวทางเหล่านี้ก็จะมีผลผูกพันกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นเส้นทางของการผลักดันข้อเสนอจากแนวระนาบ ขึ้นไปสู่ระดับนโยบาย สนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความหวังด้วยการรอคอยวัคซีน แต่ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่วนเวียนกลับมาเป็นประจำทุกปีนั้น เรากลับไม่อาจรู้ได้ว่าจะรอคอยอะไร ดังนั้นทาง สช. และ สสส. จึงร่วมกันมองเพื่อหาทิศทางเพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้บ้าง

ผศ.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เรามักชี้นิ้วหาคนผิดกันไปมา แต่จะไม่มีใครชี้มาที่ตัวเอง ซึ่งเรื่องฝุ่นละอองนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากทุกคนในทุกวัน ฉะนั้นเมื่อเราเจอปัญหาร่วมกัน สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นคือปัญญา เพื่อที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น ในขณะนี้เราจึงคาดหวังที่จะทำให้เกิดข้อเสนอเชิงบวกด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย ผ่านกลไกสมัชชาสุชภาพเฉพาะประเด็นเรื่อง PM2.5 ที่จะให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเดินหน้าแก้ไขปัญหาได้ โดยไม่ต้องรอนโยบายจากทางภาครัฐเพียงฝั่งเดียว

“ที่ผ่านมาเราจี้ไปที่ภาครัฐ ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้พยายามทำไปมากมาย ตามสรรพกำลังที่เขามีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเรายังมีภาควิชาการที่เข้มแข็ง และภาคสังคมที่จะมีศักยภาพเข้ามาร่วมช่วยเหลือได้มาก ถ้าเราได้พลังจากสามภาคส่วนนี้มา แม้ไม่ได้หวังว่าปัญหาฝุ่นละอองจะลดลงเหลือศูนย์ แต่มันจะต้องดีขึ้นได้ เพราะที่ผ่านมาเราต่างคนต่างเคยทำกันไปเยอะแล้ว แต่ที่มาทำร่วมกันยังมีน้อยอยู่ ฉะนั้นวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเชื่อมมุมมองจากแต่ละส่วนเข้ามาด้วยกัน” ผศ.วีระศักดิ์ ระบุ

นายยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกและตัวแทนกลุ่ม we! park กล่าวว่า เมื่อปัญหาฝุ่นละอองยังดูเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากผลกระทบที่ไม่ได้เกิดขึ้นทันที จึงอาจทำให้ยังไม่มีแรงกระตุ้นเพียงพอที่จะให้ผู้คนส่วนใหญ่ลุกขึ้นมาดำเนินการอะไร เช่นเดียวกับอีกส่วนหนึ่งที่แม้จะรับรู้และเข้าใจถึงปัญหา หากก็มองเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับอีกหลายส่วน และเชื่อว่าไม่สามารถดำเนินการในจุดใดจุดเดียวได้

นายยศพล กล่าวว่า อย่างไรก็ตามหนึ่งในทิศทางที่ดีที่เกิดขึ้น คือความตระหนักเพิ่มขึ้นในสังคม ซึ่งในแวดวงของนักออกแบบ แรงกระตุ้นนี้ได้ส่งผลไปถึงผู้พัฒนาโครงการ การออกแบบอาคารสถานที่ต่างๆ ที่มีการพูดถึงเรื่องการป้องกันฝุ่นละอองมากขึ้น พร้อมกับประเด็นทางสุขภาพอีกหลายเรื่องตามมา ที่เมื่อผู้คนเกิดความตระหนักและสนใจ ทำให้การออกแบบก็ต้องหันมาคิดเรื่องเหล่านี้มากขึ้น “ทำให้เราเห็นว่าเมื่อ Supply กับ Demand มาเจอกัน เมื่อมีคนต้องการ ผู้ประกอบการก็ต้องคิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอะไรเพิ่มเพื่อให้เป็นไปได้ ฉะนั้นนอกจากแรงผลักระดับนโยบายจากข้างบนแล้ว แรงผลักจากข้างล่างก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ พอมีผู้คนต้องการ ให้ความสนใจ ก็อาจเกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ ที่ทำให้การแก้ปัญหาฝุ่นละอองกลายเป็นโอกาสทางการเงินได้” นายยศพล กล่าว

นายอดิเรก แสงใสแก้ว อุปนายกและเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า อีกหนึ่งกลไกของการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และใช้วิชาการเป็นฐาน คือกฎบัตรไทย (National Charter) ซึ่งเป็นการร่วมกันวางเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาบนมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎบัตรเมือง กฎบัตรสุขภาพ กฎบัตรอาหาร หรือกฎบัตรการคมนาคมสีเขียว เป็นต้น “ประเทศไทยเรามีกฎบัตรที่เกิดขึ้นแล้วในกว่า 30 เมือง โดยการมีส่วนร่วมของภาคีหลากหลายภาคส่วน ที่มาร่วมกันวางแผนว่าเราอยากให้เมืองเติบโตไปในทิศทางใด เป็นเครื่องมือในการกำหนดอนาคตของเมืองร่วมกันเป็น Common Goals เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาในหลายมิติ ไม่ว่าจะในด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ SDGs ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว” นายอดิเรก กล่าว

นายอดิเรก กล่าวว่า หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกได้กระชับการเจริญเติบโตให้สอดคล้องกับทิศทางที่วางไว้ ไม่เน้นการพัฒนาแบบกระจัดกระจาย แต่จะรวมจุดกันพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สนับสนุนเศรษฐกิจ การจ้างงาน การคมนาคม หรือพื้นที่สีเขียว เป็นต้น ซึ่งการวางแผนเช่นนี้จะช่วยลดฝุ่นละออง รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ไปโดยปริยาย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *