กรมควบคุมโรค ย้ำประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ อย่างเข้มข้น

กรมควบคุมโรค ย้ำประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ อย่างเข้มข้น

            กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้ำประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ อย่างเข้มข้น และผลการสำรวจเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ พบว่าเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นคนละสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ นพ.เฉวตสรร-นามวาท-1024x683.jpg

            วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีที่มีสื่อต่างประเทศ รายงานข่าวว่า “ตลาดนัดสวนจตุจักร” อาจเป็นต้นกำเนิดของเชื้อโควิด 19 ก่อนมีการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน นั้น  กรมควบคุมโรค ขอชี้แจงว่าในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนว่าเชื้อติดต่อจากค้างคาวไปสู่คน ทั้งนี้ปัจจุบันไม่พบการจำหน่ายค้างคาวในตลาดนัดสวนจตุจักรแต่อย่างใด สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยร่วมกัน ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่อง โรคจากค้างคาว เพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ มาอย่างต่อเนื่อง ผลการวิจัยเบื้องต้น พบว่า ค้างคาวมงกุฎที่อาศัยในถ้ำเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด มีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิด 19 ร้อยละ 91.5 แต่ไม่สามารถติดต่อไปสู่คน ทั้งนี้การไม่กิน ไม่ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาวนับเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด

            กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินโครงการควบคุมป้องกันโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาเชื้อโรคที่แอบแฝง รวมถึงหารือแผนปฏิบัติการป้องกันกำจัดโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในตลาดค้าสัตว์ป่า โดยกำหนดให้มีการทำความสะอาดพื้นที่ตลาดค้าสัตว์ป่า และตลาดค้าสัตว์เลี้ยง 5 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ตลาดจตุจักร ตลาดมีนบุรี ตลาดพุทธมณฑล เป็นประจำ

นอกจากนี้ ได้มีสำรวจและเก็บตัวอย่างโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่มในตลาดนัดสวนจตุจักร เช่น กระรอก แมว สุนัข หนู กระต่าย และสัตว์จากต่างประเทศ เช่น ลิงมาโมเสท เม่นแคระ เมียร์แคท ชูการ์ไกลเดอร์ เป็นต้น เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 พบว่าเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นคนละสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

            นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยในสุขภาพของประชน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกคนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสกับสัตว์ พร้อมทั้งสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันโรค หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

*******************************

ข้อมูลจาก : กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน/กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *