กระทรวงเกษตรฯ คุมเข้มมาตรการป้องกันโรคระบาด ‘ลัมปี สกิน’ ในโค กระบือตามแนวชายแดน หลังพบการระบาดในเมียนมาร์ พร้อมยกระดับคอกกักให้มีมาตรฐาน

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือมาตรการควบคุมป้องกันโรคระบาด และผ่อนปรนการนำเข้าโคเนื้อ ร่วมกับผู้ประกอบการเจ้าของคอกกัก ผู้เลี้ยงโค เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาตาก อ.เมืองตาก จ.ตาก ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ติดตามสถานการณ์โรคในสัตว์อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้หน่วยงานของกรมปศุสัตว์ โดยปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ และชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ ในทุกพื้นที่ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รับรายงานว่าประเทศเมียนมามีการแจ้งพบการระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในโค กระบือ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบในโค กระบือ โดยพบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย จะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์จะมีไข้หายใจลำบาก ในโคนมอาจพบน้ำนมลดอัตราป่วยมากกว่าร้อยละ 5

นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า ดังนั้น ตนในฐานะกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ จึงสั่งการด่วนให้จัดประชุมหารือเพื่อหาแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยเบื้องต้น ที่ประชุมได้มีมติร่วมกันหากมีการผ่อนปรนนำเข้าโค กระบือ ดังนี้

1.ให้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อตรวจสอบ และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด

2.ระยะเวลากักที่ด่านกักกันสัตว์หรือสถานที่กักกันสัตว์เอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ เพื่อสังเกตอาการ 28 วัน และตรวจเลือดทุกตัวในวันที่ 14

3.ดำเนินการปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของคอกกักเช่น กำจัดบริเวณที่มีน้ำขังเพื่อลดแมลงและสัตว์พาหะ พ่นยาฆ่าเชื้อ มีบ่อจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อที่ทางเข้าออก และทำมุ้งรอบคอกกัก

4.วัวและกระบือทุกตัวต้องเข้าแพลตฟอร์ม e-Catt เพื่อติดตามผ่านระบบออนไลน์

“กระทรวงเกษตรฯ มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งหากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาได้มีการสั่งปิดด่านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการผ่อนปรนก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงโคเช่นกัน ดังนั้น ที่ประชุมจึงหารือร่วมกันในมาตรการป้องกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า และเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันโรคมากขึ้น โดยเตรียมเปิดด่านนำเข้าโค กระบือ ในวันที่ 18 มี.ค. 64 และให้กรมปศุสัตว์ตั้งด่านสกัดการลักลอบนำเข้าสัตว์อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องมาตรการป้องกันแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ รวมทั้งตรวจสถานที่กักสัตว์เพื่อให้ได้มาตรฐาน” นายประภัตร กล่าว

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ มีภารกิจควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคระบาด ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด โดยองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) แจ้งพบการระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) อย่างต่อเนื่องในปี 2562 ในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวมีความสัมพันธ์ทางการค้าด้านปศุสัตว์กับประเทศไทย และจากการศึกษาของ OIE SRR พบว่า โค กระบือที่มาจากประเทศเมียนมาร์นั้น บางส่วนมีการนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ สาธารณรัฐอินเดีย ก่อนจะมีการส่งมายังประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสู่โคและกระบือ

โดยได้รับเชื้อผ่านทางการนำเข้าเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ตลอดจนแมลงพาหะจากประเทศกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว และยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทางการค้า และผลผลิต หากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่พบรายงานการเกิดโรคลัมปี สกิม ซึ่งหากมีการระบาดของโรคดังกล่าวเกษตรกรบางรายประสบภาวะขาดทุนในการเลี้ยงโค และยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทางการค้า และผลผลิต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *