ผู้ว่าฯ อยุธยา เปิดโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นที่ 4 พร้อมเยี่ยมชมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านโคกจุฬา

วันที่ 1 มีนาคม 2564 เวลา 10:00 น. นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กิจกรรมสร้างและพัฒนากลไกขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ กิจกรรมย่อย สร้างแกนนำขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นที่ 4 ณ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงหมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านโคกจุฬา หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านหลวง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายกิจจา ทองแดง พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์

พร้อมด้วย นายวิรัตน์ แข็งขัน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดฯ ปลัดอำเภอ วิทยากร ผู้เข้ารับการอบรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี เพื่อสร้างแกนนำขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้แทนครัวเรือนศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ประจำปี 2564 จำนวน 213 คน เป็นตัวแทน พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 171 คน พื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 42 คน แบ่งการอบรมเป็น 4 รุ่น โดยการอบรมครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 4 ได้รับการสนับสนุนทีมวิทยากรจาก เครือข่ายศูนย์กสิกรรมธรรมชาติหนองกระโดนมน จังหวัดสุพรรณบุรี และทีมวิทยากรเครือข่าย โคก หนอง นา โมเดล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายภานุ แย้มศรี กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน คือ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนให้พึ่งตนเองได้ เราเป็นองค์กรที่พัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะก่อให้เกิดผลต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ด้วยความเชื่อมั่นตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชทานไว้ว่าสองสิ่งนี้จะนำพาประเทศให้อยู่รอด ทำให้เกิดเป็นรูปธรรม และสามารถส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดแกนนำหลักในการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน พื้นที่เป้าหมายให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานในด้านเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากการฝึกอบรมเสร็จสิ้น และมุ่งหวังว่าจะมีพื้นที่ต้นแบบเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงการพัฒนาคุณภาพชีวิตรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล และ ครัวเรือนต้นแบบ การเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน ครัวเรือนเหล่านี้จะเป็นครูที่จะสอน หรือบอกเล่าถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ ต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *