สคบ. ได้รับร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งว่าได้ถูกมิจฉาชีพปลอมบัญชีแอคเคาท์ไลน์ (ปลอมเป็นเพื่อนสนิท) ส่งข้อความมาขอยืมเงินเพื่อไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้บุตร โดยมิจฉาชีพจัดส่ง QR Code ให้กับผู้ร้อง 4 ครั้ง และผู้ร้องได้โอนเงินสดผ่าน QR Code และตัดบัตรเครดิตรวมมูลค่า 44,750 บาท ต่อมาได้ทราบว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัท ลาซาด้า จำกัด โดยมิจฉาชีพได้เปิดบัญชี Lazada Wallet มีคำสั่งซื้อ 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ซื้อล้อแม็กรถยนต์ เป็นเงินจำนวน 15,380 บาท ซึ่งมีการยกเลิกคำสั่งซื้อดังกล่าวและโอนเงินคืนผ่านบัตรเครดิตของผู้ร้องแล้ว ในส่วนของคำสั่งซื้อ ครั้งที่ 2 – 4เป็นการสั่งซื้อสินค้าประเภทบัตรเติมเงิน บัตรเติมเกมส์ (Digital Goods) โดยได้จัดส่งสินค้าเป็นรหัสบัตรเติมเงินและบัตรเติมเกมส์ให้กับมิจฉาชีพที่เป็นเจ้าของบัญชี Lazada Wallet และนำไปใช้งานเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จึงไม่สามารถยกเลิกได้
นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษก สคบ. ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังหากประสบเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ควรดำเนินการ ดังนี้
1. ควรตรวจสอบแอคเคาท์ไลน์ เฟสบุ๊ก เบอร์โทรศัพท์ ที่ติดต่อขอยืมเงินว่าเป็นเพื่อนสนิทจริงหรือไม่อาจถามคำถามที่รู้กันเป็นการเฉพาะ ก่อนตัดสินใจทำการโอนเงินเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนที่ถูกต้อง
2. ข้อมูลบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้อื่นได้ทราบ เช่น เลขบัตรเครดิต ชื่อเจ้าของบัตร วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ และเลข CVV ที่อยู่หลังบัตรเครดิต หรือแจ้งรหัส OTP ให้แก่บุคคลอื่น เพราะเลข OTP จะเป็นการยืนยันการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต
3. ไม่ควรคลิกลิ้งค์ที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะมิจฉาชีพจะแนบลิ้งค์มากับอีเมลต่างๆ หรือทำอีเมลปลอมเพื่อป้องกันการถูกมิจฉาชีพ Hack ข้อมูลส่วนบุคคล
4. รีบแจ้งธนาคารผู้ให้บริการบัตรเครดิต เพื่อขออายัดบัญชีบัตรเครดิตที่โดน Hack ทันที
5. หากถูกหลอกลวงให้ชำระเงินเพื่อเป็นค่าซื้อสินค้า ขอให้แจ้งบริษัท ฯ เพื่อยกเลิกคำสั่งซื้อทันที
6. ตรวจสอบสเตทเม้นท์บัตรเครดิตทุกเดือน เพราะอาจมียอดรายการสั่งซื้อสินค้าหรือรายการชำระเงินอื่นๆ ที่เจ้าของบัตรไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง
7. แจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น