กรมการแพทย์แผนไทยฯ MOU 3 องค์กรหลัก นำร่องพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางคลินิก วิชาชีพแพทย์แผนไทย รองรับการปฏิบัติงานในหน่วยบริการสุขภาพ ระดับ ตติยภูมิ


กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ลงนาม MOU ร่วมกับ 3 องค์กรหลักด้านสุขภาพ นำร่องพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางคลินิกสำหรับวิชาชีพแพทย์แผนไทย เพื่อรองรับการปฏิบัติงานในหน่วยบริการสุขภาพ ระดับตติยภูมิ ให้มีศักยภาพด้านบริการและวิชาการทางคลินิก เพื่อพัฒนางานด้านการแพทย์แผนไทย ให้เป็นที่ยอมรับ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในระบบสุขภาพของประเทศ อย่างยั่งยืน
วันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือ การนำร่องพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางคลินิกสำหรับวิชาชีพแพทย์แผนไทย เพื่อรองรับ การปฏิบัติงานในหน่วยบริการสุขภาพ ระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สำนักงานเขตสุขภาพที่ 5 และโรงพยาบาลราชบุรี โดยมีแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5, รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายแพทย์วิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี พร้อมด้วย สักขีพยานทั้ง 3 องค์กร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนางาน ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกของประเทศ อาทิ ได้จัดทำหลักสูตรและจัดการอบรมพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการแพทย์แผนไทยในระบบบริการสุขภาพ เช่น หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน หลักสูตรการเพิ่มพูนประสบการณ์การใช้ยาแผนไทยและยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ (First Line Drug) หลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย สนับสนุนทุนวิจัยให้กับคณาจารย์ที่ต้องการทำวิจัยด้านศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก การลงนามความร่วมมือของทั้ง 4 หน่วยงานหลักในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กรมขับเคลื่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางคลินิกสำหรับแพทย์แผนไทยให้รองรับการปฏิบัติงานในหน่วยบริการสุขภาพระดับตติยภูมิ สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนางานด้านการแพทย์แผนไทยในระบบบริการสุขภาพ ร่วมกันบูรณาการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบัน เพิ่มศักยภาพ ของคณาจารย์แพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทย ในหน่วยบริการของรัฐ การดำเนินการในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดหลักสูตรต้นแบบที่เป็นแพทย์แผนไทยคลินิกมหาบัณฑิตแห่งแรกของประเทศไทย ในการเรียนแพทย์แผนไทยคลินิกขั้นสูง จึงเป็นการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนด้านการแพทย์แผนไทยให้มีศักยภาพปฏิบัติงานร่วมกับสหวิชาชีพยกระดับการแพทย์แผนไทยให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและสหวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของประเทศอย่างยั่งยืน
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณะที่มีประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิตมานานมากกว่า 15 ปี ดังนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีความพร้อม มีความมุ่งมั่นและตั้งใจ ที่จะส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาทางคลินิกสำหรับแพทย์แผนไทย ด้วยการพัฒนาหลักสูตรและจัดการศึกษาหลังปริญญา เช่น ปริญญาโท ด้านแพทย์แผนไทยบัณฑิตมหาบัณฑิต มุ่งเน้นการเพิ่มพูนความรู้และทักษะทางวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และการบูรณาการกับการแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน ร่วมกับสหวิชาชีพ ในหน่วยบริการสุขภาพระดับตติยภูมิ รวมถึงการเพิ่มพูนความรู้ด้านการวิจัยเชิงคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความร่วมมือกันทำงาน เป็นเครือข่ายกับ เขตสุขภาพที่ 5 และโรงพยาบาลราชบุรี เพื่อส่งเสริมให้เกิดหลักสูตรแพทย์แผนไทยแบบบูรณาการ ที่เป็นหลักสูตรนำร่องแห่งแรกของประเทศไทย ในการผลิตบุคคลากร แพทย์แผนไทยให้มีการบูรณาการกับความรู้แพทย์แผนปัจจุบันได้ เป็นการผลิตแพทย์แผนไทยแนวใหม่ ที่สามารถทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ ในโรงพยาบาลระดับตติยะภูมิ อีกทั้งยังสามารถสร้างงานวิจัย แพทย์แผนไทยเชิงประจักษ์ทางคลินิก
ด้านนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 5 มีความพร้อมเป็นอย่างสูงในการพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดังจะเห็นได้จากผลการปฏิบัติงานของแพทย์แผนไทยในเขตสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพทย์แผนไทยโรงพยาบาลราชบุรี ที่ออกตรวจคนไข้ในคลินิก คัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (ARI) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การดำเนินงานคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการที่มีผู้รับบริการและผู้รับกัญชาทางการแพทย์แผนไทยสูงสุดในประเทศ รวมถึง การปฏิบัติงาน ทั้งในระดับจังหวัด เขตสุขภาพ ภูมิภาคและระดับประเทศ จนเป็นที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์ โดยประจักษ์ อีกทั้งภาคส่วนที่สำคัญในการสนับสนุนให้การดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ยังเป็นหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่มีความเข้มแข็ง อีกด้วย
นายแพทย์พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลราชบุรี เป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำในเขตสุขภาพที่ 5 ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดในภาคกลางตะวันตก ปัจจุบันงานด้านการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกโรงพยาบาลราชบุรี ได้ให้บริการแบบบูรณาการผสานกลมกลืนกับระบบการแพทย์ แผนปัจจุบัน เช่น กลุ่มผู้ป่วย Palliative Care โดยเฉพาะโรคมะเร็ง, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, เลิกบุหรี่ในงานยาเสพติด, ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง Stroke, เลิกบุหรี่ใน RPAC, โรคสะเก็ดเงิน, Intermediate Care, Mindfulness Based Therapeutic and Counselling Reflexology และ คลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ ด้วยการใช้ศาสตร์และศิลป์ทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเชิงวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับการยอมรับจากบุคลากรสาธารณสุขทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลบทบาทอันสำคัญยิ่งในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืน ดังคำที่ว่า “MODERNIZE THAI TRADITIONAL MEDICINE” คือ ระบบการศึกษาและระบบบริการแบบบูรณาการ ภายใต้โครงสร้าง(นำร่อง) กลุ่มภารกิจด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร มุ่งเน้นภารกิจหลักด้านวิชาการ คือ ศูนย์แพทย์แผนไทยศึกษาชั้นคลินิก สถาบันสมทบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ด้านบริการ คือ ศูนย์แพทย์แผนไทยบูรณาการ, ด้านการจัดการความรู้ คือ ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์และวิจัยการแพทย์แผนไทย, ด้านเศรษฐกิจ คือ ศูนย์พัฒนายาแผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้บรรลุผลตามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือฉบับนี้

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *