กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับมาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ Clean Food Good Taste เน้นมาตรฐานด้านนความปลอดภัย ห่างไกลโควิด -19 ในร้านอาหาร และตลาดสด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า หลังจากกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ในส่วนของร้านอาหารและฟู้ดคอร์ท กรมอนามัยจึงได้วางนโยบายการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติและกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบกิจการด้านอาหาร และเผยแพร่ ผลักดัน ถ่ายทอดองค์ความรู้ มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติ และกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบกิจการด้านอาหารได้เริ่มมีการทยอย จัดอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารผู้ที่สัมผัสอาหาร ผู้ประกอบการ ผู้ปรุงประกอบ และคนเสิร์ฟไม่เพียงแต่ร้านอาหารและฟู้ดคอร์ทเท่านั้น จะขยายการอบรมคนสัมผัสอาหารไปยังกลุ่มร้านอาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ด และรถจำหน่ายอาหารหรือฟู้ดทรัคด้วย ซึ่งหลักการอบรมไม่แตกต่างกันกับร้านอาหาร อีกทั้งรถที่นำมาดัดแปลงต้องได้มาตรฐาน และต้องมีการจัดการความสะอาดของวัตถุดิบและครัวที่อยู่ภายในรถ การจัดการกับขยะและของเสียที่เกิดขึ้น
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับสตรีทฟู้ดก็ต้องเน้นเรื่องการจัดการของเสียที่จะไม่เกิดปัญหาเรื่องการทิ้งของเสียลงท่อระบายน้ำ ในส่วนของร้านอาหารรายใหม่นั้น จะต้องขออนุญาตเปิดขายกับ ทางท้องถิ่น ดังนั้น จึงต้องเข้าสู่กระบวนการอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหารและต้องผ่านการอบรมก่อนถึงจะเปิดร้านได้ และกรมอนามัยยังคงเน้นย้ำให้สถานประกอบกิจการร้านอาหารทุกแห่ง ต้องมีระบบคัดกรอง ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย รวมถึงจัดให้มีจุดผู้ใช้บริการลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ทุกครั้ง ที่ใช้บริการ และมีการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด รวมถึงจัดให้มีระบบระบายอากาศภายในอาคาร ที่เหมาะสม ที่สำคัญควรทำความสะอาดพื้นผิวในจุดที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19 เช่น ห้องน้ำ ลูกบิดประตู หรือราวจับทางเดิน เป็นต้น
“นอกจากนี้ ตลาดสดและร้านอาหารที่ผ่านมาตรฐานของกรมอนามัย แบ่งเป็นตลาดสดที่ผ่านมาตรฐาน ตลาดสดน่าซื้อ จำนวนทั้งหมด 1,676 แห่ง และจำนวนร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารที่ผ่านมาตรฐาน Clean food good taste จำนวนทั้งสิ้น 144,335 ร้าน ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว กรมอนามัยได้วางนโยบายในการยกระดับมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างระบบฐานข้อมูลและระบบการอบรมผู้ประกอบกิจการผู้สัมผัสอาหาร พัฒนาระบบฐานข้อมูลของสถานประกอบกิจการด้านอาหารปรับปรุงกระบวนการทำงาน รวมถึงทบทวนกฎหมายและกลไกการดำเนินงานด้านสุขาภิบาลอาหาร พัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานสุขาภิบาลอาหาร สร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหาร และสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานความสะอาด ปลอดภัยในระดับประเทศ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว