วันที่ 25 มีนาคม ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยายนยนต์ปลอดภัย เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เร่งรัดติดตามการขับเคลื่อนงานเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ หลังพบว่า ประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคนต่อปี จนในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนรถจักรยานยนต์มากถึง 21 ล้านคัน แต่เรื่องน่าตกใจ ก็คือ ในจำนวนนี้มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มากถึง10 ล้านคน ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ และจำนวนการตายจากรถจักรยานยนต์ ในรอบ 18 ปี เพิ่มขึ้นจากชั่วโมงละ 1คน เป็นชั่วโมงละ 2 คน หรือเฉลี่ย 35 นาทีต่อ 1 คน
พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขาดมาตรฐานและการบูรณาการระบบความปลอดภัยทางถนนทั้ง 3 องค์ประกอบหลักของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ทั้งเรื่องของรถ ที่ไม่มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ ไม่มีการแบ่งประเภทรถจักรยานยนต์ตามมาตรฐานสากลของสหประชาชาติ ในส่วนของถนน ยังขาดช่องทางเฉพาะสำหรับรถจักรยานยนต์ ตามมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนสำหรับรถจักรยานยนต์ ขาดการกำหนดประเภทรถและความเร็วบนถนนของรถที่ใช้งานแตกต่างกัน และ ไม่มีการจัดระบบใบอนุญาตขับขี่เป็นระบบอนุญาตอย่างเป็นลำดับขั้นตามอายุและประสบการณ์การขับขี่(Graduated Driver Licensing -GDL)ที่มีงานวิจัยรองรับว่า สามารถลดการบาดเจ็บและตายของผู้ขับขี่หน้าใหม่ได้ถึง 36%
“เราจะเห็นรถมอร์เตอร์ไซค์ถูกดูดเข้าไปอยู่ใต้ท้องรถเมล์ รถบรรทุก แม้จะใส่หมวกกันน็อกแต่ก็เสียชีวิต เพราะรถใหญ่กว่า ยังไงก็หนีไม่พ้น ยิ่งล่าสุด การออกกฎหมายบังคับให้รถจักรยานยนต์วิ่งร่วมเลนกับรถเมล์ รถสิบล้อ รถพ่วง แทนที่จะช่วยให้ปลอดภัยกลับพบว่าทำให้รถจักรยานยนต์เสี่ยงอันตรายมากขึ้น ”อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ กล่าวและว่า ปรากฏการณ์ของการที่รถมอร์เตอร์ไซค์ถูกดูดเข้าไป เรียกว่า arodynamic หรือ DRAFTING หรือ Slipstreaming ที่รถสองคันวิ่งขนานกันหรือตามกันจะถูกดูดเข้าหากัน เนื่องจากความดันอากาศระหว่างรถต่ำลง ตามความเร็วรถที่สูงขึ้น
พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี จำนวน 6 ข้อ คือ 1.แก้ไขพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงให้เกิดมาตรฐานและระบบความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถจักรยานยนต์อย่างบูรณาการ ให้เป็นรูปธรรม 2.กำหนดให้หมวกนิรภัยเป็นส่วนควบมาตรฐานของความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ 3. กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของมาตรฐานสเปกรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นครอบครัวม่ให้ปรับแต่งแข่งบนนถนนโดยง่าย โดยเพิ่มขนาดหน้ายาง ลดความกว้างวงล้อ และลดความเร็วสูงสุดบนหน้าปัดรถ 4.กำหนดให้บิ๊กไบค์เป็นรถจักรยานยนต์ตั้งแต่ 246 ซีซีขึ้นไป เพื่อจะช่วยถนอมชีวิตผู้ใช้รถจักรยานยนต์แรงเร็วได้เพิ่มเกือบ 2 เท่า 5.ปรับปรุงการจำแนกประเภทรถ ให้มี 2ล้อเครื่องขนาดเบา(L category ) รถ L 1 ความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามเกณฑ์สากลให้ผู้ไม่ต้องการรถแรงเร็วมีทางเลือก และ 6.ปรับปรุงแก้ไขระบบใบอนุญาตขับขี่ให้เป็นขั้นตอนตามอายุและประสบการณ์
“ตั้งแต่ปี 2554 – 2562 มีเด็กและเยาวชนไทยเดินทางแล้วไม่ได้กลับบ้านมากกว่า 26,126 คนหรือปีละ 2,902 คน ซึ่งถ้ารัฐบาลยังคงแก้ปัญหาแบบเดิมและไม่มีเป้าหมายชัดเจน อีก 11 ปีข้างหน้าจะมีเด็กและเยาวชนตายเพิ่มขึ้นอีก กว่า 40,000 คน” พญ.ชไมพันธ์ กล่าวในที่สุด