เตือนระวัง ! โรคลมแดดในเด็กช่วงหน้าร้อน

            กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ชี้โรคลมแดดในเด็กช่วงหน้าร้อน ที่ผู้ปกครอง  ไม่ควรมองข้าม แนะดูแลอย่างใกล้ชิด

                นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นและอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นช่วงที่เด็กๆปิดเทอม ส่วนใหญ่ต่างพากันเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นจากการเจอแสงแดด  อากาศร้อน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย โดยเฉพาะเด็กเล็กร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายที่เป็นอันตรายถึงชีวิต  ได้แก่ โรคลมแดด เนื่องจากยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ทำให้การปรับตัวของร่างกายต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ อาจสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ในร่างกายจากความร้อนได้ง่าย ซึ่งหากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น  มากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะมีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว จนทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และหากพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

                 นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า โรคลมแดด  คือ อาการที่ร่างกายมีเหงื่อออกมาก ผิวหนังร้อน ตัวสั่น กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ปวดศีรษะ พูดช้าสับสน ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กอยู่กลางแดด หรือเล่นกลางแจ้งที่มีแดดจัดเป็นเวลานาน สาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว เพราะอุณหภูมิเกิน 37 องศาเซลเซียสทำให้ร่างกายปรับตัวตามไม่ทัน สำหรับการป้องกันลมแดดในเด็ก ในวันที่อากาศร้อนมากให้ดื่มน้ำบ่อยๆทุกชั่วโมง ให้สวมชุดเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย เลือกสีอ่อนๆให้สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น ตัวร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออก ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง มีอาการชัก หรือหมดสติ ต้องรีบนำเด็กเข้าร่มในทันทีในกรณีที่เด็กเป็นลม การดูแลเบื้องต้น คือ ให้เด็กนอนราบแล้วยกเท้าทั้งสองข้างให้สูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น หากเด็กยังมีสติอยู่บ้าง  ควรให้เด็กได้จิบน้ำบ่อยๆทำให้ร่างกายเย็นด้วยวิธีต่างๆเช่น เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ระหว่างนี้ก็ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *