“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์การจมน้ำในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา พบเหตุการณ์เด็กจมน้ำ จำนวน 20 เหตุการณ์ เสียชีวิต 21 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี (12 ราย) รองลงมาคือ อายุ 10-14 ปี (6 ราย) แหล่งน้ำที่พบอุบัติเหตุเด็กจมน้ำมากที่สุด คือ สระน้ำ คลอง และแม่น้ำ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการไปเล่นน้ำมากที่สุด (14 ราย) รองลงมาคือ การลื่นพลัดตก (4 ราย) ส่วนจังหวัดที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ บุรีรัมย์ (5 เหตุการณ์) รองลงมา คือ พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี (จังหวัดละ 2 เหตุการณ์)”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบอุบัติเหตุการจมน้ำเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เนื่องจากสภาพอากาศร้อนอย่างต่อเนื่องและเป็นช่วงปิดเทอม ประกอบกับการเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ เด็กๆ มักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงอาจเกิดเหตุการณ์เด็กตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิตได้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า มาตรการป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำจําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกับชุมชน ให้ความรู้เด็กและผู้ปกครองในการป้องกันการจมน้ำ และชุมชนควรร่วมดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย เช่น การสร้างรั้วกั้น ป้ายเตือน และเตรียมอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง ที่สำคัญหากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ 1.ตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอน พลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”