กท่าน วันนี้เราจะมาแนะนำขั้นตอนการไปรับยาแทนผู้ป่วยที่ได้มีการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อเข้าพบแพทย์เพื่อติดตามอาการ(Follow up) แต่ไม่สะดวกที่จะไปในช่วงการระบาดของโรคโควิท-19 เวลานี้หลายท่านอาจมีความกังวลใจที่จะต้องพาผู้ป่วยไปหาหมอ เพราะกลัวว่าอาจจะมีความเสี่ยงเมื่อต้องเข้าไปในที่ๆมีคนพลุกพล่าน ฉะนั้นทางเลือกที่น่าสนใจคือให้ญาติหรือคนสนิทไปรับยาแทน ซึ่งสามารถทำได้ในบางกรณี ทางที่ดี เราควรโทรปรึกษาโรงพยาบาลก่อนจะดีที่สุด
เหตุผลที่ควรจะโทรไปสอบถามโรงพยาบาลต้นทางก่อนว่าสามารถรับยาแทนได้ไหม เพราะคนไข้ที่ต้องติดตามอาการในแต่ละกรณีไม่เหมือนกัน บางคนไม่สามารถที่จะรับยาแทนได้เพราะต้องมีการตรวจเลือดหรือเช็คค่าต่างๆภายในร่างกายก่อนที่จะจ่ายยา แต่บางกรณีก็ไม่ต้องถ้าคนไข้ไม่ต้องใช้ผลแล็ปและตอนอยู่บ้านไม่มีอาการผิดปรกติใดๆ หรือถ้าจะต้องมีการเช็ค ก็อาจมีการวัดความดัน 5-7 วันล่วงหน้า แล้วจดข้อมูลเพื่อแจ้งกับทางโรงพยาบาลก่อนจะให้ญาติไปรับยาแทน
หลังจากสอบถามโรงพยาบาลเรียบร้อย ทีนี้เรามาอธิบายขั้นตอนการรับยาแทนกันว่าต้องทำอย่างไรบ้าง:
1. ตรวจสอบสิทธิ์
เมื่อไปถึงโรงพยาบาลตามวันและเวลาที่นัดหมาย ผู้ที่รับยาแทนต้องไปดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์ของผู้ป่วยว่าผู้ป่วยใช้สิทธิ์อะไร หรืออีกนัยก็คือการแจ้งสิทธิ์ให้ทางโรงพยาบาลทราบว่าผู้ป่วยใช้สิทธิ์อะไรในการตรวจรับการรักษา ในขั้นตอนนี้ผู้ที่รับยาแทน ต้องเตรียมเอกสารที่จำเป็นได้แก่ บัตรประชาชนผู้ป่วย บัตรผู้ป่วย ใบนัดหมอ และ เอกสารสิทธิ์ต่างๆให้พร้อมเพื่อแสดงให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบเมื่อต้องการตรวจสอบ
2. คัดกรองผู้ป่วย
หลังจากดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์เสร็จเรียบร้อย ผู้ที่รับยาแทนก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองผู้ป่วยโดยที่เจ้าหน้าที่จะสอบถามผู้ที่มารับยาแทน อาทิเช่น ชื่อ-นามสกุลคนไข้ อายุ น้ำหนัก มาด้วยอาการอะไร แพ้ยาไหม (ในกรณีมารับยาแทนสามารถแจ้งได้ว่ามาพบหมอเพื่อรับยาแทนผู้ป่วย) ทั้งนี้ผู้ที่มารับยาแทน สามารถแจ้งอัตราความดันของผู้ป่วยที่ได้มีการบันทึกไว้ก่อนหน้าให้ทางเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อทำการวิเคราะห์
หมายเหตุ: ถ้าเป็นกรณีปรกติที่ผู้ป่วยมาด้วย จุดนี้จะเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจวัดความดัน เจาะเลือด หรือ ตรวจปัสสาวะ เพื่อนำผลข้อมูลการตรวจส่งให้แพทย์ทำการวินิจฉัย
3. เวชระเบียน
พอให้ข้อมูลการคัดกรองผู้ป่วยเสร็จเรียบร้อย เราจะต้องดำเนินการติดต่อเวชระเบียนเพื่อยื่นเอกสารและรอเจ้าหน้าที่เรียกเพื่อตรวจสอบประวัติของผู้ป่วยอีกครั้งก่อนทำการพบแพทย์ ในส่วนนี้อาจจะมีการสอบถามชื่อ-นามสกุล และ ขอบัตรประชาชนของญาติที่มารับยาแทน
4. รอพบแพทย์
การรอพบแพทย์อาจใช้เวลาสักครู่ใหญ่ ระหว่างรอควรเตรียมคำตอบไว้เบื้องต้นเผื่อในกรณีที่แพทย์อาจจะถามเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยหลังจากรับการรักษาในครั้งที่แล้ว อาทิเช่น นอนหลับได้ปรกติไหม? มีอาการตื่นเต้น ใจสั่น หน้ามืด หรือทานข้าวได้ปรกติรึเปล่า? หรือมีอะไรที่ต้องการแจ้งให้หมอทราบไหม? ญาติผู้ที่มารับยาแทนควรพูดคุย-สอบถามอาการผู้ป่วยไว้เบื้องต้นเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตอบคำถาม หรือในอีกกรณี เราอาจโทร VDO call แบบ Real Time เพื่อให้แพทย์ได้พูดคุยและดูอาการจากผู้ป่วยได้โดยตรง แต่ทั้งนี้ก็ต้องได้รับการอนุญาตจากแพทย์ผู้ดูแลก่อนจึงจะสามารถทำได้
หลังจากเสร็จสินการเข้าพบแพทย์ แพทย์จะทำการจ่ายยาให้ผู้ป่วยตามความเหมาะสม และทำการออกใบนัดให้ผู้ป่วยเข้าพบในครั้งถัดไป
5. จ่ายเงินหรือใช้สิทธิ์การรักษา และ รอรับยา
ขั้นตอนนี้ญาติผู้รับยาแทนต้องเดินเอกสารจากแพทย์ไปติดต่อแผนกการเงินเพื่อทำการเบิกจ่ายสิทธิ์ หรือ จ่ายเงินเองในกรณีที่ไม่มีสิทธิ์ หลังจากนั้นนั่งรอเรียกเพื่อให้เภสัชกรจัดเตรียมยาตามที่แพทย์สั่ง รวมทั้งอธิบายข้อบ่งชี้ในการใช้ยานั้นๆให้แก่ผู้รับยาแทนได้รับทราบ ในบางโรงพยาบาลมีโครงการพิเศษเฉพาะช่วงโควิท-19 ให้บริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์โดยมีค่าบริการเก็บเงินปลายทาง ซึงญาติผู้รับยาแทนสามารถลองสอบถามถึงบริการเหล่านี้ได้
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
- แนะนำให้เตรียมเอกสารต่างๆไปให้พร้อม ถ้าไม่แน่ใจให้โทรสอบถามโรงพยาบาลก่อน
- ให้ไปตั้งแต่เช้าเพื่อจะได้เสร็จไว เพราะจะได้คิวก่อน หรือถ้าเกิดมีเอกสารใดผิดพลาดจะได้มีเวลาเผื่อเหลือในการแก้ไข ไม่เสียเที่ยว
- หมอส่วนใหญ่จะลงตรวจเวลาประมาณ 8:00-9:00 โมงเช้า แนะนำให้พอดำเนินการเรื่องเอกสารเบื้องต้นเสร็จทั้งหมด ระหว่างรอหมอลงตรวจให้หาอะไรรับประทานลองท้องไว้เผื่อกรณีต้องรอคิวนาน
- อีกส่วนที่อาจต้องรอนานคือรอรับยา แนะนำให้หาหนังสือไปนั่งอ่านเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะอาจจะปวดตาจากการเล่นมือถือเป็นเวลานาน
- โรงพยาบาลในแต่ละที่ขั้นตอนการดำเนินการ ตรวจสอบสิทธิ์ ตรวจประวัติ และการตรวจรักษา อาจแตกต่างกันไป ฉะนั้นบทความนี้จึงเป็นแค่การแนะนำเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น ถ้าต้องการความถูกต้องแม่นยำอาจจะต้องติดต่อ-สอบถามจากทางโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาโดยตรงจะดีที่สุด
สรุป: การรับยาแทนอาจเป็นสิ่งที่สะดวกสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะมีข้อวิตกกังวลโดยเฉพาะช่วงโควิท-19 นี้ แต่ถ้าในอนาคตที่โรคระบาดร้ายแรงชนิดนี้บรรเทาลง Zee Doctor แนะนำให้ผู้ป่วยเดินทางไปพบแพทย์ตามวันและเวลาที่นัดหมายน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะแพทย์จะได้ทำการตรวจ วินิจฉัย อย่างละเอียด รวมทั้งได้พูดคุยสอบถามอาการจากทางผู้ป่วยโดยตรงซึ่งจะทำให้แพทย์ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำในการรักษา และสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างดี มีประสิทธิภาพสูงสุด
ขอขอบคุณ – บทความโดย: แอดมิน Zee Doctor (All Right Reserve)