หมอโอภาส เผยโควิดระลอกใหม่ เชื้อดุกว่าเดิม กลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงไว คาดมีเคสหนักเข้าไอซียูในสัปดาห์นี้เยอะ แนะป้องกันระดับชุมชน เร่งฉีดวัคซีน
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Opass Putcharoen
วันที่ 19 เมษายน 2564 ผศ. นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Opass Putcharoen เผยข้อสังเกตโควิดสายพันธุ์ใหม่พบว่าเชื้ออยู่ในร่างกายได้นานขึ้น เชื้อกระจายได้ง่าย วัยรุ่นที่แข็งแรงเมื่อติดเชื้อแล้วมีอาการปอดอักเสบมากขึ้น เมื่อติดเชื้อแล้วคนที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงเร็วขึ้น ทำให้การเตรียมรักษากับวินิจฉัยปอดต้องทำให้เร็ว พร้อมเผยว่า ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป จะเห็นเคสหนักในไอซียูมากขึ้น
นอกจากนี้ ผศ. นพ.โอภาส ยังเผยภาพฟิล์มเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ใหม่ ระบุว่า สอดคล้องกับข้อมูลในประเทศอังกฤษที่มีสายพันธุ์ B117 ระบาด พร้อมแนะนำวิธีลดอัตราการเสียชีวิต คือป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชน รวมถึงการกระจายวัคซีนที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการลดความรุนแรงของโรค
นอกจากนี้ ผศ. นพ.โอภาส ยังเผยภาพฟิล์มเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ใหม่ ระบุว่า สอดคล้องกับข้อมูลในประเทศอังกฤษที่มีสายพันธุ์ B117 ระบาด พร้อมแนะนำวิธีลดอัตราการเสียชีวิต คือป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชน รวมถึงการกระจายวัคซีนที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการลดความรุนแรงของโรค
สำหรับโพสต์ทั้งหมดของ ผศ. นพ.โอภาส พุทธเจริญ ถึง โควิดสายพันธุ์ใหม่ มีดังนี้
ระลอกนี้เชื้อดุกว่าเดิม
จากเคส 200 กว่ารายของระลอกนี้ที่โรงพยาบาล
1. ปกติโดยทั่วไปถ้าเป็นเชื้อระลอกแรก 7 วันไปแล้ว เชื้อจะน้อยลงแม้ว่าตรวจ PCR บวกแต่จะเพาะเชื้อไม่ขึ้น แต่เชื้อของระลอกนี้ 10 วันแล้วยังเพาะเชื้อขึ้นอยู่ แสดงว่าเชื้ออยู่ในร่างกายได้นานขึ้น
2. รอบก่อน ๆ ไม่ค่อยเห็นวัยรุ่นที่สุขภาพแข็งแรงเกิดปอดอักเสบ แต่รอบนี้พบมากขึ้นกว่าเดิม
3. หลังจากที่ติดเชื้อไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ คนที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจะเริ่มมีอาการให้เห็น แต่รอบนี้เร็วกว่าเดิม ไม่ถึงสัปดาห์ก็เริ่มมีอาการมากขึ้น การอักเสบเกิดขึ้นเร็ว การให้ยาต้านไวรัสกับยาสเตียรอยด์ต้องพร้อม การวินิจฉัยปอดอักเสบต้องทำได้เร็ว
4. ปริมาณเชื้อในโพรงจมูกและเสมหะมีมากกว่าเดิม เชื้อกระจายได้ง่าย
5. สัปดาห์นี้เป็นต้นไป เราจะเห็นเคสหนักในไอซียูมากขึ้น
จากที่เห็นก็น่าจะสอดคล้องกับข้อมูลในประเทศอังกฤษ ที่มีสายพันธุ์ B117 ระบาด พบว่าควรมีวิธีเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ได้แก่การป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชน ด้วยมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการกระจายวัคซีนที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการลดความรุนแรงของโรค
ที่มา – ขอขอบคุณ kapook.com