นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่ยังมีความรุนแรง เนื่องจากเชื้อโรคดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม ส่งผลให้ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ในทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งทางรัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน และได้เน้นย้ำให้ใช้มาตรการขั้นสูงสุดและเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง ภายใต้การขยายเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรไทยออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 30 มีนาคม 2564
ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมประมงช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการ ในการดำเนินการตามกระบวนการต่างๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยลดการเดินทางมาติดต่อราชการ เพื่อลดความแออัด ลดความเสี่ยงการเกิดโรค และไม่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ หรือละเมิดกฎหมายที่กำหนดเวลาให้ปฏิบัติ ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการมาตามลำดับแล้ว เช่น การจัดประชุมสื่อสารทางไกล การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ การงดเว้นการกำหนดให้ประชาชนต้องมาแสดงตน หรือ การยกเว้น หรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมภายใต้กรอบของกฎหมาย เป็นต้น
จากสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล กรมประมง จึงอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ออกประกาศกรมประมง เรื่อง การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและมิให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์หรือละเมิดกฎหมายตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 22 เมษายน 2564 โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ให้ขยายเวลาหรืออายุของทะเบียน หนังสือรับรอง ใบรับรอง หรือหนังสือประกาศรับรอง ตามประกาศกรมประมงและระเบียบกรมประมงฯ จากวันที่หมดอายุหรือสิ้นอายุออกไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 จำนวน 16 เรื่อง
2. ให้ผู้ได้รับหนังสือรับรอง ใบรับรอง หรือหนังสือประกาศรับรอง ที่ได้ขยายเวลาหรืออายุตามข้อ 1 ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ตลอดระยะเวลาที่ได้รับการขยายเวลาหรืออายุ
3. เมื่อพ้นระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้เกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการที่ได้ขยายเวลาหรืออายุดังกล่าว เร่งดำเนินการยื่นคำขอต่ออายุการขึ้นทะเบียน หนังสือรับรอง ใบรับรอง หรือหนังสือประกาศรับรอง ขอหนังสือรับรองต่างๆ ที่ได้ขยายเวลาหรืออายุภายใน 30 วัน
โดยมีเรื่องที่ขยายเวลาหรืออายุ ตามประกาศกรมประมงในครั้งนี้ จำนวน 16 เรื่อง ดังนี้
1. ทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) และ ทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2)
2. ทะเบียนสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก (สอ.3) ทะเบียนสถานประกอบการรวบรวมสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก (สอ.4) และการรับรองสุขอนามัยฟาร์มและสุขภาพสัตว์น้ำ
3. หนังสือรับรองเป็นผู้มีสิทธิออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำสวยงามเพื่อการส่งออก
4. หนังสือประกาศรับรองให้ออกหนังสือกำกับการจำหน่ายลูกพันธุ์สัตว์น้ำ และ ประกาศรับรองให้ออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ
5. ทะเบียนฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลเพื่อการนำเข้ามาเพาะพันธุ์
6. ใบรับรองฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลที่มีการผลิตตามมาตรฐาน Code of Conduct หรือ CoC
7. ใบรับรองการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP)
8. ใบรับรองการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี สำหรับการผลิตสัตว์น้ำ (GAP)
9. หนังสือรับรองส่งหอยและเปลือกหอยออกไปนอกราชอาณาจักร
10. หนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมง
11. หนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยของเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ
12. หนังสือรับรองเพื่อประกอบการขอรับใบอนุญาตใช้เรือ
13. หนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอเปลี่ยนประเภทของเรือ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดตัวเรือหรือเครื่องจักร โอนกรรมสิทธิ์เรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือประมง
14. หนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน
15. หนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยของท่าเทียบเรือประมง สะพานปลา กิจการแพปลา หรือ ตลาดกลางซื้อขายสัตว์น้ำ
16. ใบรับรองการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย
ทั้งนี้ กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การออกประกาศในครั้งนี้ จะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน ถูกต้อง ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมง และผู้ประกอบการในภาคการประมงทุกภาคส่วน และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวพ้นสถานการณ์วิกฤตในครั้งนี้ไปได้อย่างปลอดภัย….อธิบดีฯ กล่าว