“อนุทิน-สาธิต” ใช้สบยช.-สนามกีฬาหัวหมาก-นิมิบุตร เป็นศูนย์แรกรับ/ส่งต่อผู้ป่วยโควิดไม่มีเตียง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมโรงพยาบาลสนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด 19 สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติฯ และศูนย์แรกรับสนามกีฬาหัวหมาก-นิมิบุตร รับผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีเตียงในเขต กทม.

วันนี้ (25 เมษายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์
อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เยี่ยมโรงพยาบาลสนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด 19 (Cohort Ward)
โดยมีนายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ
บรมราชชนนี (สบยช.) รายงานสถานการณ์และรายละเอียดการจัดตั้งหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด 19 และดูความพร้อมในการเปิดศูนย์แรกรับและส่งต่อที่สนามกีฬาอินดอร์สเตเดียมหัวหมากและสนามกีฬาแห่งชาติ (นิมิบุตร)
โดยนายอนุทินกล่าวว่า โรงพยาบาลสนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด ขนาด 200 เตียงของ สบยช. เปิดใช้แล้ว 130 เตียง มีผู้เข้าพักแล้ว 117 ราย ส่วนที่เหลือกำลังทยอยเปิดเพิ่ม หากผู้ป่วยอาการเปลี่ยนแปลงมีระบบส่งต่อโรงพยาบาลปทุมธานีได้ทันที โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นผู้จัดการรถขนย้ายผู้ป่วย

สำหรับศูนย์แรกรับและส่งต่อได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มอบพื้นที่สนามกีฬา
2 แห่ง ให้กระทรวงสาธารณสุขรับผู้ติดโควิดที่ไม่มีเตียง เพื่อคัดกรองและแยกระดับอาการเขียว เหลือง แดง
ก่อนส่งต่อไปรักษาตามความเหมาะสม เป็น Pre-admission Center ให้บริการเหมือนโรงพยาบาล มีอุปกรณ์
ทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์พร้อม ส่วนบุคลากรจะระดมแพทย์ พยาบาล จากจังหวัดที่ควบคุมสถานการณ์ได้ดี
สลับหมุนเวียนดูแล โดยได้รับการติดต่อจากภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนเตียงมากถึง 5 พันเตียง แต่ย้ำว่าไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม เพราะจุดประสงค์การตั้งต่างกันและไม่ใช่สถานที่ตรวจหาเชื้อหรือเข้ารับการกักตัวแต่อย่างใด

“กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับผิดชอบพื้นที่ กทม. โดยตรง แต่เมื่อเห็นว่ายังมีปัญหาเรื่องผู้ป่วยและ
รอเตียงจำนวนมาก จึงต้องเข้ามาบูรณาการจัดการเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโควิดตกค้างตามบ้าน ซึ่งขณะนี้มีสายด่วน
ในการโทรติดตามให้รับการรักษา แต่หากไม่ทันใจ อยากเข้าสู่ระบบโดยเร็ว สามารถเข้ารับการคัดกรองและดูแลตามระบบได้ทันที ถือเป็นหน่วยเก็บตกอีกช่องทางที่ช่วยเร่งให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลเร็วขึ้น” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การมีโรงพยาบาลสนามและฮอสปิเทลรองรับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ รวมทั้งรับผู้ป่วย
ที่อาการดีหรือรักษาหายออกมาดูแลต่อให้ครบระยะเวลา จะช่วยให้เตียงในโรงพยาบาลมีมากขึ้น โดยเฉพาะเตียงไอซียู กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายจะทำทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้สถานการณ์ต้องถึงขั้นเปิดไอซียูสนาม ทั้งนี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วย และการที่แต่ละจังหวัดมีการออกมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ประชาชนก็ให้ความร่วมมือด้วยดี เช่น กทม.พบว่าการจราจรเบาบางลง คนออกมาข้างนอกน้อยลง ขอให้อดทนร่วมกันยกการ์ดสูง มั่นใจว่าเมื่อผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ผู้ป่วยในโรงพยาบาลทยอยหายมากขึ้น เมื่อตัวเลขต่างๆ เคลียร์ และวัคซีนมีมากขึ้นทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *